จิตศึกษา… หลายคนอาจเคยได้ยินคำนี้มาก่อน และอาจทราบว่าเป็นเครื่องมือบางอย่างที่ครูใช้ในการสอน เพื่อพัฒนาสมาธิของเด็ก หรือจำได้ลางๆ ว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวของกับการทำงานด้านการศึกษาของแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย…

มาถูกทางแล้ว

จิตศึกษา คือกระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นโดย “โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา” จ.บุรีรัมย์ ในปี 2546 ที่พัฒนาเด็กให้เกิดการเรียนรู้และงอกงามด้านความฉลาดทางด้านอารมณ์ (EQ) ความฉลาดด้านจิตวิญญาณ (SQ) เพื่อเตรียมเด็กให้สงบ ผ่อนคลาย และมีสมาธิก่อนเรียนทุกเช้า

ในปีต่อๆ มา นวัตกรรมจิตศึกษาได้รับการถ่ายทอดไปยังโรงเรียนอื่นในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องการปฏิรูปห้องเรียน หลังจากเห็นว่าการเรียนการสอนรูปแบบเดิมไม่พัฒนาเด็กอย่างที่ควรจะเป็น ก้าวไม่ทันตามยุคสมัย และสังคมดิจิทัลที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ เมื่อกลางปี 2560 คือ โรงเรียนวัดดอนโพธิ์ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่มี ผอ. แหม่ม–ฤทัยวรรณ หาญกล้า เป็นผู้ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยรับและปรับใช้นวัตกรรมจิตศึกษา ร่วมกับการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) และชุมชนแห่งเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community)

วันนี้เรามาทำความรู้จักจิตศึกษาให้มากขึ้น ผ่านประสบการณ์ของ ผอ. แหม่ม และคุณครูในโรงเรียน รวมถึงเห็นผลงอกงามของกระบวนการนี้กัน

กระบวนการจิตศึกษาจะผันเปลี่ยนไปตามบริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น แต่มีกระบวนทัศน์ 3 ข้อเป็นเสาหลักในการพัฒนาเหมือนกัน คือ กิจกรรมจิตศึกษา การใช้จิตวิทยาเชิงบวก และการสร้างชุมชนและวิถีชุมชน

ในระดับกิจกรรม หลังเคารพธงชาติและก่อนเริ่มการเรียนการสอนที่โรงเรียนวัดดอนโพธิ์ทอง ครูประจำชั้นจะให้นักเรียนนั่งเป็นวงกลมเพื่อทำกิจกรรมฝึกสมอง สร้างสมาธิ และ “พลังสงบ” เป็นเวลา 20 นาที เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในแต่ละวัน โดยกิจกรรมจะมีความยากง่ายและซับซ้อนไปตามระดับชั้นเรียน ตั้งแต่ การวางตัวต่อ โยคะ หรือเกมเบรนยิม (Brain Gym) แบบต่างๆ เช่น จีบมือ-แอล หรือกรรไกร-ไข่-ผ้าไหม เป็นต้น

กระบวนทัศน์ข้อสองคือ การใช้จิตวิทยาเชิงบวก ปฏิบัติต่อเด็กอย่างมีคุณค่าความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน บ่มเพาะความดีงามให้กับเด็ก และเสริมสร้างความดีงามที่มีอยู่เดิมให้งอกงามยิ่งขึ้น โรงเรียนวัดดอนโพธิ์ทองให้เกียรติ และเรียกนักเรียนว่า “พี่” ไม่ว่าจะกับระดับชั้นไหน ครูจะชื่นชมและขอบคุณเด็กที่ทำดี เพื่อให้คนอื่นเห็นเป็นแบบอย่าง และที่สำคัญ ครูจะไม่ใช้ความรุนแรง ขึ้นเสียง หรือเปรียบเทียบเด็กเพื่อติเตียนหรือตีค่า สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล ครูยังมอบพลังบวกและความรักผ่านการกอดอีกด้วย

“พอใช้คำพูดไพเราะหู เด็กยิ้ม เด็กกล้าพูด ไม่กลัวครูอย่างที่เคยเป็น” ผอ. แหม่มเสริม “เป็นการทำให้เด็กอยากพัฒนาตัวเอง และมองโลกในแง่ดี”

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คือการสร้างชุมชนและวิถีชุมชน ซึ่งมีแนวคิดมาจากความเชื่อที่ว่าโรงเรียนสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีของคนในชุมชนผ่านการปฏิบัติของวิถีโรงเรียน นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาเด็กโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ปลอดภัย มีครูและเพื่อนๆ เป็นมิตรที่ดีต่อกัน วิถีของโรงเรียนวันดอนโพธิ์ทองนั้นมีหลายข้อ ทั้งสำหรับนักเรียน ครู และที่ทั้งสองปฏิบัติร่วมกัน เช่น การเข้าแถวหน้าเสาธงพร้อมกันเวลา 7.55 น. ที่ใช้เวลาไม่นาน (ไม่มีการ “เทศนา”), การร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม, กิจกรรมชมรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่มีทุกวันศุกร์บ่าย, การทำ Body Scan ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย และรับรู้ความรู้สึกร่างกาย เป็นต้น

ในมุมมองของ ผอ. แหม่ม การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นภายในชั่วข้ามคืน แต่ชัดเจน และน่าชื่นใจ

“แต่ก่อนจะไปถึงที่ตัวเด็ก ต้องบอกว่ากิจกรรมจิตศึกษาก็ทำให้ตัวผอ.เองเปลี่ยน ในแง่ของการสอน หรือการพูดคุยกับครูก็เปลี่ยนไป อีกคนที่เปลี่ยนไปคือครูของโรงเรียนเรา พวกเขาเป็นครูที่แท้จริงมากขึ้น สอนคนอย่างไม่ได้สอนที่ตัวหนังสือ สุดท้าย ผลที่เห็นในตัวเด็กคือ พวกเขากล้าพูด กล้าแสดงออก ไม่กลัวว่าจะผิดหรือถูก หรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้เขาได้คิด เขาก็มีความสุขแล้ว ในภาพรวมคือ ทั้งผอ. ทั้งครู ทั้งเด็ก ก็มีความสุขในการเรียนการสอน”