ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การนัดหยุดงานประท้วงเป็นยุทธวิธีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง วันสตรีสากลไม่ใช่แค่กลยุทธ์ทางการตลาดที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกสวยงามขึ้น หากเป็นวันที่ผู้หญิงต้องลุกขึ้นยืนหยัดและประท้วง เสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2563 นี้ เราขอชวนทุกคนน้อมรำลึกประวัติศาสตร์ร่วมกัน ฟื้นฟูศักดิ์ศรีของวันสตรีสากล และฟื้นฟูพลังของขบวนการสตรี เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของเรา เราเชื่อว่าทุกคนบนโลกควรได้รับสิ่งต่อไปนี้อย่างเท่าเทียมกัน

      • งานที่มีคุณค่าและค่าจ้างที่อยู่ได้

      • ยุติความรุนแรงเนื่องจากเหตุทางเพศสภาพ

      • การเข้าถึงทรัพยากร อำนาจ และโอกาสอย่างเป็นธรรม

      • อธิปไตยด้านอาหาร (เกษตรกรรายย่อย ประชาชนผู้ผลิตและผู้บริโภคควรกำหนดกลไกและนโยบายการผลิตและกระจายอาหาร ไม่ใช่อำนาจทุน)

จะร่วมเรียกร้องและแสดงพลังได้อย่างไรบ้าง?

1. โพสต์ภาพถ่าย หรือภาพที่แสดงถึงความเท่าเทียมลงสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter หรือ Instagram พร้อมใส่แคปชั่นระบุเหตุผลที่สนับสนุน หรือต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ติดแฮชแท็ก #IWD2020 #WomensGlobalStrike #StoptheWorld #AllWomenWork


2. เข้าร่วม Women’s Global Strike การสไตรค์ของผู้หญิง 

โพสต์รณรงค์ทางสื่อสังคมออนไลน์ และร่วมกันหยุดงาน หรือลดการทำงานในวันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม นี้ ทั้งงานในบ้านและนอกบ้าน เพื่อรำลึกถึงที่มาและต้นกำเนิดของวันสตรีสากลที่นำโดยกรรมกรหญิงที่นัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า “เมื่อผู้หญิงหยุด โลกก็หยุดด้วย”! อย่าลืมติดแฮชแท็ก #IWD2020 #WomensGlobalStrike #StoptheWorld #AllWomenWork

แถลงการณ์ของ Women’s Global Strike

พวกเราซึ่งเป็นองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานเรื่องสิทธิผู้หญิง เรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานของผู้หญิงทั่วโลกในวันที่ 8 มีนาคม 2563 เราขอเชิญชวนทุกคนที่สนับสนุนสิทธิเท่าเทียมของผู้หญิงและข้อเรียกร้องของพวกเราให้ร่วมกันหยุดทำงานด้วยในวันนั้น เพื่อรำลึกถึงที่มาและต้นกำเนิดของวันสตรีสากลที่นำโดยกรรมกรหญิงที่นัดหยุดงานในประวัติศาสตร์ และเพื่อพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า เมื่อผู้หญิงหยุด โลกก็หยุดด้วย

เหตุใดจึงต้องทำเช่นนี้?

เพราะรัฐบาลของพวกเราที่สัญญาว่าจะนำมาซึ่งความเท่าเทียม การพัฒนาและสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและประชาชน ล้มเหลวในการผลักดันเรื่องดังกล่าว หากแต่ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยกลับขยายตัวมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมในหลายประเด็นเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าผู้หญิงจะเป็นผู้สร้างความมั่งคั่งส่วนใหญ่ แต่ผู้หญิงกลับได้รับส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อย พวกเราอาศัยอยู่ในระเบียบเศรษฐกิจที่เอาเปรียบผู้หญิง แสวงหาประโยชน์จากผู้หญิงที่ต้องทำงานเพื่อดูแลคนอื่นโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือได้รับค่าตอบแทนน้อย หรือได้รับค่าตอบแทนต่ำจากงานแบบอื่น รวมทั้งงานที่เสี่ยงอันตราย

เพราะว่าความโลภของบริษัทพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ทำลายสิ่งแวดล้อม และผู้หญิงกลายเป็นคนแบกรับผลกระทบส่วนใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเนื่องจากเสี่ยงด้านต่างๆที่เพิ่มขึ้น เราต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อไปตักน้ำ ถูกบังคับให้ต้องอพยพย้ายถิ่น ต้องประสบภัยจากอันตรายด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ จากน้ำทะเลที่ความเป็นเกลือเข้มข้นขึ้น จากน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นถี่มากขึ้น

เพราะผู้หญิงทั่วโลกยังคงต้องทำงานดูแลคนอื่นและทำงานบ้านมากขึ้น เป็นงานที่ไม่มีคนเหลียวแล ไม่มีใครให้คุณค่า เป็นงานที่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในการคำนวณผลผลิตมวลรวมประชาชาติ แม้ว่าเศรษฐกิจไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้หากขาดผู้ทำงานเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ในเอเชียแปซิฟิก ผู้หญิงต้องทำงานดูแลโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน มากกว่าผู้ชายถึงสี่เท่า มากกว่าผู้หญิงในพื้นที่อื่นของโลก ช่องว่างของรายได้ระหว่างเพศหญิงและเพศชายในหลายประเทศยังคงหยุดนิ่ง ซ้ำร้ายยังดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นด้วย

ปี 2563 ในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการแสดงพันธกิจที่มีต่อสิทธิสตรีในการประชุมระดับโลกว่าด้วยผู้หญิงครั้งที่ 4 หรือที่เรียกว่า เวทีปฏิบัติการกรุงปักกิ่ง ถึงเวลาที่เราต้องรวมตัวกัน จากหลายรุ่นคน จากหลากหลายขบวนการ ยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างกัน และทำให้โลกต้องหยุดนิ่งในวันนี้

womensglobalstrike.com

ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็แสดงพลังเพื่อความเท่าเทียมได้เหมือนกัน สะกิดบอกเราในคอมเมนต์ หรือแท็ก @ActionAidThailand ในโพสต์ด้วยก็ได้นะ!