วันที่ 26-28 กันยายน แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ลงพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพและเศรษฐกิจของผู้หญิงในพื้นที่ใหม่ เราเดินทางไปยังสามชุนชนในจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรูปแบบต่างๆ โดยเข้าใจบริบททางภูมิรัฐศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเห็นถึงปัญหาและความท้าทายต่างๆ ที่ชุมชนประสบ
จุดหมายแรกคือ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส แอ็คชั่นเอด ประเทศไทยร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์อิตตีฮาดและสหกรณ์ลอยฟ้าบ้านชุมบก และมองเห็นปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของกลุ่ม เช่น การขาดแรงงานที่มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญในเรื่องหนึ่งๆ สภาพการเงินที่ไม่คล่อง การแทรกแซงของรัฐ เป็นต้น

สำหรับพื้นที่บ้านหมู่ 1 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส สมาชิกชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และวิสาหกิจขนาดย่อมเพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่ชุมชน เพิ่มเติ่มจากการทำสวนยางซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลัก โดยมีทั้งการทำสวนพริกไทยดำและมะนาวขนาดเล็ก และการทำเบเกอรี่และขนมไทยตามสั่งของกลุ่มผู้หญิง ตัวแทนกลุ่มได้นำเสนอผลการดำเนินงานของกลุ่มในที่ประชุม รวมถึงอภิปรายวิธีที่จะเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจและทำให้วิสาหกิจเติบโตยิ่งขึ้น ได้แก่ การสำรวจตลาด การเข้าถึงที่ดินมากขึ้น การพัฒนาทักษะแรงงาน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่น
อีกหนึ่งกลุ่มที่แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ได้พูดคุยด้วยคือชาวบ้านหญิงบ้านโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ที่รวมกลุ่มกันทำน้ำมันมะพร้าว น้ำยาล้างจาน สบู่ก้อน และผลิตภัณฑ์ดูแลตนเองต่างๆ ด้วยระยะทางที่ไกลออกมาจากอำเภอเมือง กลุ่มผู้หญิงบ้านโคกโพธิ์จึงพบอุปสรรคด้านการเดินทาง และการขนส่งในบางครั้งเมื่อมีงานออกร้าน หรือเทศกาลต่างๆ ในตัวเมือง อย่างไรก็ตาม พวกเขากำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงกับความต้องการของตลาด อีกทั้งมีโอกาสทางการค้าที่มากขึ้น หลังจากชาวต่างชาติเข้ามาทาบทามเกี่ยวกับส่งออกผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศ ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการผลิตเพื่อส่งออกในอนาคต กลุ่มต้องมีการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ และทำให้ผลิตภัณฑ์และภาพลักษณ์ของตราสินค้าได้มาตรฐานตามที่อุตสาหกรรมกำหนด

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย เห็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งของกลุ่มและเครือข่ายผู้หญิง และช่วยพัฒนาศักยภาพของสมาชิกเพื่อการเสริมสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวของพวกเขา เราตั้งมั่นที่จะสนับสนุนแต่ละกลุ่มในการบรรลุเป้าหมายของตนอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การหาช่องทางทางการตลาด การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด หรือการฝึกอบรมทักษะทางวิชาชีพ เป็นต้น โดยเรายังคงร่วมงานกับเครือข่ายชุมชนศรัทธา (มชท.) เครือข่ายชุมชนที่สนับสนุนโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงในชุมชนห่างไกล หรือชุมชนที่ถูกทอดทิ้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ติดตามความก้าวหน้าของโครงการผ่านทางเว็บไซต์ และช่องทางต่างๆ ของเรา