นางสาวบุณฑริก ซื่อสัตย์ หรือครูบัว บรรจุเข้ารับราชการครั้งแรก ที่โรงเรียนบ้านซิวาเดอ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยสอนเด็กชาวกะเหรี่ยงในเขตทุระกันดารเป็นเวลากว่า 4 ปี ก่อนทำเรื่องขอโอนย้ายมาอยู่ที่จังหวัดน่าน
ปัจจุบันครูบัวสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านฮากฮาน ต.ยาบหัวนา อ.เวียงสา จ.น่าน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่านเขต 1 เป็นครูประจำชั้น ป. 6 ต้องสอนทุกรายวิชา เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนในโรงเรียนทั้งหมด 57 คน
สิ่งที่หล่อหลอมให้ครูบัวเป็นตัวเองในทุกวันนี้นั้นย้อนกลับไปในสมัยที่ยังเป็นเด็ก เนื่องจากพื้นฐานทางความครัวค่อนข้างยากจน ครูบัวได้รับการช่วยเหลือจากโรงเรียนด้านทุนการศึกษามาโดยตลอด แม้จะลำบากเรื่องเงิน แต่ครอบครัวก็ให้ความสำคัญกับการศึกษา ในสมัยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่จะต้องเลือกว่าจะเรียนต่อสายอาชีพหรือสายอุดมศึกษา ครูบัวก็มีความตั้งใจทำตามความฝันวัยเด็กที่อยากเป็นครู กู้เงินเรียนจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สอบชิงทุนต่าง ๆ และได้รับโอกาส เมื่อเรียนจบชั้น ม.6 จึงเลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชาประถมศึกษา
เหตุผลที่อยากเป็นครูประถมนั้นเป็นเพราะประสบการณ์ในสมัยประถมของตัวเอง ด้วยความที่ต้องเรียนกับครูที่ดุมากที่มักตีนักเรียน เลยทำให้ไม่ชอบวิชาของครูจนแกล้งปวดหัวบ้าง ปวดท้องบ้าง พอไม่เข้าเรียนก็ส่งผลให้ผลการเรียนแย่ลง จึงทำให้อยากมาเป็นครูประถม เพื่อที่จะทำให้เด็กรุ่นใหม่รักในตัวครูและวิชาที่เรียน เพราะช่วงวัยประถมนั้นเป็นช่วงที่สำคัญมากในการสร้างพื้นฐานความรู้ เด็กต้องมีพื้นฐานที่แข็งแรงสำหรับการเรียนในระดับมัธยม

ก่อนจะได้มารู้จักกับเครื่องมือสอนคิด ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่โรงเรียนบ้านฮากฮานใช้สอนในปัจจุบัน ครูบัวก็เป็นคนหนึ่งที่ตั้งคำถามและพยายามมองภาพความเป็นครูในตัวเอง ว่าการที่เราเป็นครูผู้สอนนั้น หากจะมีเครื่องมือใดบ้างที่จะช่วยให้ผู้เรียนคิดได้ คิดเป็น สามารถตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องได้ เพราะกระบวนการคิดสำหรับผู้เรียนนั้นสำคัญ “มันคงไร้ประโยชน์ ถ้าผู้เป็นครูให้เด็กท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่ยังไม่สามารถช่วยให้เด็กคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้” ครูบัวกล่าว
“มันคงไร้ประโยชน์ ถ้าผู้เป็นครูให้เด็กท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง
แต่ยังไม่สามารถช่วยให้เด็กคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้”
สำหรับมิติด้านการจัดการห้องเรียนครูบัวมองว่า “การจัดการชั้นเรียนผ่านการสร้างวินัยเชิงบวกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก กล่าวคือ ครูต้องเป็นผู้ให้ความเข้าใจ ให้แนวทาง ให้ความอบอุ่นแก่เด็ก ไม่มีการลงโทษหรือใช้พฤติกรรมที่รุนแรงกับผู้เรียน ห้องเรียนที่เด็กสามารถได้แสดงความคิดเห็น ครูรับฟังและเข้าใจกันและกัน ไม่มีความตึงเครียด ยิ้มและหัวเราะได้ ห้องเรียนนั้นจะเป็นห้องเรียนที่น่าเรียน ถึงแม้ห้องจะแคบ ไม่มีสื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีแค่โต๊ะไม้เก่า ๆ พัดลมแก่ ๆ แต่ครูและนักเรียนเรารักและเข้าใจกัน ทุกคนมีความสุข ครูอยากสอนนักเรียนก็อยากเรียน โดยส่วนตัวดิฉันมองว่า สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นจำเป็น แต่ไม่มากไปกว่ากระบวนการและการปฏิบัติที่ครูมีต่อลูกศิษย์ ซึ่งถึงแม้โรงเรียนบ้านฮากฮานจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้มีทรัพยากรครบครัน แต่โรงเรียนของเราจะข้ามผ่านอุปสรรคปัญหาทางกายภาพไปได้”
แม้ภาพที่ครูบัวมองว่าโรงเรียนในฝันจะไม่ต่างไปจากภาพของสังคมที่คาดหวังจากโรงเรียน ว่าจะต้องมีห้องเรียนที่เหมาะสมพอเพียง ตัวอาคารเรียนแข็งแรงมั่นคง สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีสนามเด็กเล่น มีแหล่งเรียนรู้ มีห้องสมุดที่น่าเข้าไปหาความรู้ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและตั้งอยู่บนชุมชนภูเขาอย่างบ้านฮากฮาน ไม่มีทุกอย่างครบตามที่เคยมองภาพโรงเรียนในฝัน เพราะในความเป็นจริง โรงเรียนขนาดเล็กยังถูกจำกัดอยู่ด้วยนโยบายการบริหารจัดการตามกรอบงบประมาณที่ส่วนกลางกำหนด
อาชีพครูในโรงเรียนของรัฐก็คือข้าราชการที่ส่วนหนึ่งคือต้องปฏิบัติตามสายงานบังคับบัญชา ในฐานะครูคนหนึ่ง ครูบัวได้สะท้อนมุมมองด้านระบบการศึกษาว่า “ระบบการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร นโยบายก็เปลี่ยน ระบบการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่ง คนเป็นครูต้องติดตามข่าวสารและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถึงระบบจะเปลี่ยนไปแค่ไหนผู้เป็นครูก็ยังคงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนด้วยการศึกษา ครูควรทำตัวเป็นไม้ไผ่ลู่ไปตามลมและสถานการณ์ ไม่ยึดติดแบบต้นไม้ใหญ่ เพราะเมื่อเจอปัญหาหรือพายุใหญ่ ลำต้นที่ใหญ่และแข็งแรงนั้นจะหักโค่นล้มได้ง่าย”
“ระบบการศึกษาควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลให้มาก
การบังคับปลาที่เป็นสัตว์ว่ายน้ำเก่งที่สุด มาปีนต้นไม้แข่งกับสัตว์อื่น ๆ คงเป็นไปไม่ได้
ความแตกต่างระหว่างตัวเด็กเองก็เช่นกัน ตราบใดที่ใช้การทดสอบมาวัดกับเด็ก
ก็จะได้แต่เด็กเก่งกับเด็กอ่อน”
โรงเรียนบ้านฮากฮานหันมาใช้นวัตกรรมเครื่องมือสอนคิด หลังจากที่ได้ไปอบรมที่โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย “ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ได้ความรู้และเรียนรู้จากสถานที่จริง สร้างแรงบันดาลใจในการใช้นวัตกรรมการสอนคิด ต้องขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ หลังจากอบรมเสร็จก็เกิดความร้อนวิชา ได้กลับมาทดลองใช้และเกิดผลดีกับผู้เรียน จึงนำมาใช้จัดการกับการเรียนการสอนเรื่อยมา รวมระยะเวลาประมาณ 3 ปีแล้วค่ะ”
“การนำเครื่องมือสอนคิด ทั้ง 10 เครื่องมือ มาใช้ในการเรียนการสอนนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก สิ่งแรกที่เปลี่ยนคือตัวครูเอง ต้องแสวงหาความรู้ ไม่อาศัยตำราในการสอน ใช้สื่อและเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่สอนแบบเลข คัด เลิกเหมือนสมัยก่อน โดยส่วนตัวมองว่าเกิดผลเปลี่ยนแปลงทางด้านผู้เรียนอย่างชัดเจน คือเด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี กล้าโต้ตอบ สามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อครูได้ และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีการจัดการกับความคิดได้ดีขึ้น สามารถพูดสื่อสารและฟังอย่างตั้งใจ เมื่อต้องการให้แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งใดก็สามารถอธิบายถึงเหตุและผล ความเหมือนและแตกต่าง คิดสรุปรวบรวมข้อมูล ตัดสินใจแก้ปัญหาได้”

ครูบัวคิดว่าระบบการศึกษาไทย “ควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลให้มาก การบังคับปลาที่เป็นสัตว์ว่ายน้ำเก่งที่สุด มาปีนต้นไม้แข่งกับสัตว์อื่น ๆ คงเป็นไปไม่ได้ ความแตกต่างระหว่างตัวเด็กเองก็เช่นกัน ตราบใดที่ ใช้การทดสอบมาวัดกับเด็กก็จะได้แต่เด็กเก่งกับเด็กอ่อน สิ่งที่เป็นอยู่คือระบบการศึกษาที่พรากครูออกจากนักเรียน พรากความเป็นคน สร้างความเป็นหุ่นยนต์ให้กับเยาวชน”
ครูบัวคือตัวอย่างหนึ่งของครูบนพื้นที่สูงที่ใช้เครื่องมือสอนคิด และเป็นข้อพิสูจน์ว่าการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ไม่ได้จำเป็นต้องมีทรัพยากรที่ครบครันเสมอไป เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกสภาวะ แม้แต่พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์บนที่สูงอย่างโรงเรียนบ้านฮากฮาน ตอนนี้ ครูบัวยังคงเดินหน้าในการทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนผ่านนวัตกรรมที่ไม่เพียงสอนความคิด แต่สอนความเป็นคนให้เด็ก ๆ ด้วย เธอเป็นอีกกำลังสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ที่ขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นในจังหวัดน่าน และอีกหลายโรงเรียนทั่วประเทศ