ความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพในประเทศไทยยังคงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขผ่านความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย ที่มีจำนวนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งประเทศ และมีเด็กจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านั้น ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 กำลังเผชิญความท้าทายจากคำถามเรื่องคุณภาพการศึกษา อันนำไปสู่นโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการยุบควบรวม นอกเหนือจากนั้น โรงเรียนขนาดเล็กยังคงเผชิญความท้าทายด้านการจัดสรรงบประมาณ หลักสูตรการสอน และการประเมินวัดผล ดังนั้นการแก้ปัญหาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อเอื้อให้เกิดกระบวนการการกระจายอำนาจการศึกษา และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและเท่าเทียม รวมไปถึงตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับบริบทและวิถีชีวิตในชุมชน

โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Active Civil Society for Quality Education of Small Schools หรือ ACCESS School) คือ โครงการระยะเวลา 4 ปี (2563-2566) ที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานโดยสหภาพยุโรป และบริหารโครงการโดย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และสมาคมไทบ้าน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยมุ่งส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษาในชุมชนของตนเอง ผ่านการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง

วัตถุประสงค์โครงการ

    • เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคม และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เอื้อให้เด็กในพื้นที่ 8 จังหวัด (ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม น่าน กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม) สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้
    • เพื่อพัฒนาความสามารถทางด้านเทคนิคและการจัดการ ให้กับองค์กรภาคประชาสังคมให้สามารถดำเนินขับเคลื่อนรูปแบบการพัฒนา “โมเดลโรงเรียนขนาดเล็ก” ขยายผลไปในโรงเรียนเป้าหมายในพื้นที่ 8 จังหวัด
    • เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการโรงเรียนทีมีประสิทธิภาพผ่านการมีส่วนร่วมหลายภาคส่วน อาทิ ความร่วมมือระหว่างชุมชน โรงเรียน ภาคีภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐท้องถิ่น
    • เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนข้อเสนอด้านนโยบายทางการศึกษา ผ่านทางเวทีวิชาการ การเจรจา และสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลสนับสนุนการยกระดับคุณภาพและส่งเสริมความยั่งยืนของโรงเรียนขนาดเล็กสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

    • เด็กจำนวน 20,000 คนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้บ้านในราคาที่สามารถจ่ายได้ (โดยมีเด็กผู้หญิงอย่างน้อยร้อยละ 45)
    • องค์กรภาคประชาสังคมพัฒนาขีดความสามารถของตนเองและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองในประเด็นทางการศึกษาที่มากขึ้น
    • ร้อยละ 60 ของโรงเรียนเป้าหมายที่มีคณะกรรมการสถานศึกษาหรือสมาคมครูผู้ปกครอง ผ่านการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีที่หลากหลายที่มาจากตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานรัฐส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ผู้นำทางศาสนา และเอกชน ร่วมจัดทำแผนการพัฒนาโรงเรียนหรือกิจกรรมที่สนับสนุนการบริหารจัดการโรงเรียน
    • องค์กรภาคประชาสังคมและแกนนำผู้หญิงในชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่น และระดับกระทรวง ในการพัฒนาการจัดการการศึกษาภาครัฐ นำไปสู่การดำเนินการเชิงนโยบาย 2 เรื่องที่สนับสนุนความก้าวหน้าทางการศึกษา อาทิ การเรียนรู้แบบ Active Learning การรับเปลี่ยนการวัดประเมินผลผู้เรียนสอดคล้องกับตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

มีส่วนร่วมกับเรา

    • ติดตามข่าวสารและกิจกรรมของโครงการที่เว็บไซต์ และ Facebook มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และ Facebook ของโครงการ ACCESS School
    • เป็นแนวร่วมในพื้นที่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ระบบบริหารจัดการการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กใกล้บ้าน
    • ร่วมกันพัฒนาโมเดลโรงเรียนขนาดเล็ก และการจัดการปัญหาในเชิงพื้นที่ เพื่อหาทางออกร่วมกันที่ตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21