“สิ่งที่สำคัญคือเรามีความสุข”: พี่ ป.6 ย้อนมองประสบการณ์ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ใช้นวัตกรรม
การจัดการศึกษาแบบองค์รวมในรูปแบบ "โมเดลโรงเรียนขนาดเล็ก" ของโครงการ ACCESS School นั้นนำนวัตกรรม Active Learning ที่จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมาปรับใช้ในหลักสูตร ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพของการเรียนการสอนท่ามกลางข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและบุคลากร ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยต้องประสบ
ที่โรงเรียนวัดโคกทอง โรงเรียนขนาดเล็กในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning หรือ PBL) และจิตศึกษาถูกนำมาใช้ในห้องเรียน แทนที่ตารางสอนของโรงเรียนจะมี 8 กลุ่มสาระวิชาอย่างในโรงเรียนรัฐทั่วไป นักเรียนวัดโคกทองจะได้เรียน 3 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ตามขนบ ส่วนวิชาอื่น ๆ อย่างวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพลศึกษา และศิลปะ จะถูกนำมาจัดการเรียนรู้เป็น "หน่วย PBL" ที่ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เน้นการลงมือปฏิบัติของผู้เรียน และนำความรู้แต่ละสาขาวิชามาเชื่อมโยงกัน
หาก PBL เปรียบเสมือนมันสมองของหลักสูตรนี้ จิตศึกษาก็เป็นดั่งหัวใจ หรือ "จิต" ทุกวันก่อนเริ่มการเรียนรู้ในภาคเช้าและบ่าย นักเรียนโรงเรียนวัดโคกทองแต่ละระดับชั้นจะนั่งล้อมวงร่วมกับคุณครูในห้องของตัวเอง ครูจะเป็นผู้นำกิจกรรมจิตศึกษารูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่เพียงทำให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนรู้ แต่ยังเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และความฉลาดทางจิตวิญญาณ (SQ) อีกด้วย กิจกรรมที่ใช้ในช่วงจิตศึกษานั้นได้แก่ การฝึกสมาธิ การยืดเหยียดโยคะ เกมเบรนยิม การเล่าเรื่อง การถกถามและสนทนากลุ่ม เมื่อเรื่องเล่าหรือข่าวถูกใช้เป็นตัวชงในกิจกรรม ครูมักจะขอให้นักเรียนเขียนความรู้สึกหรือความคิดเห็นลงในสมุดจิตศึกษาประจำตัวหลังจากที่ได้ฟังเรื่อง หากใครอยากอาสาเล่าสิ่งที่เขียนให้เพื่อน ๆ ฟัง ครูก็จะเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนและขอบคุณในความกล้าของนักเรียน

ในวันที่เราได้พูดคุยกับพี่นักเรียนชั้น ป.6 หวานและติ๊ก พวกเธอเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ในฐานะพี่ใหญ่ของโรงเรียนวัดโคกทอง เราขอให้พวกเธอเล่าถึงประสบการณ์ในโรงเรียนที่ "ทั้งเหมือนและแตกต่างจากที่อื่น" ที่ได้ร่ำเรียนมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมาแห่งนี้ หวานบอกว่า "วิธีการสอนของที่นี่อาจจะแตกต่าง แต่ก็มีความรู้เท่าเทียมกับโรงเรียนอื่น นักเรียนเข้าใจในสิ่งที่เรียนจริง ๆ หนูคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือการที่เรามีความสุข" ด้านติ๊กเสริมว่า "แทนที่จะเปรียบเทียบโรงเรียนนี้กับโรงเรียนอื่น หรือเปรียบเทียบขนาดของโรงเรียน เราควรดูสิ่งที่โรงเรียนทำ ว่ามีประโยชน์ต่อครู นักเรียน พ่อแม่ หรือเปล่า ควรคิดว่าโรงเรียนเราเหมาะแล้วที่จะมีเด็กมาเรียน โรงเรียนเราไม่ต้องมีชื่อเสียงมาก ขอแค่เด็กมีความรู้ติดตัวกลับไปบ้าน ไปใช้ในอนาคตก็พอแล้ว"
แต่หากจะทำให้เห็นภาพว่าแนวทางการสอนของโรงเรียนส่งผลต่อหวานและติ๊กอย่างไร การเปรียบเทียบคงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ หวานเล่าว่าก่อนที่จะย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัดโคกทองตอน ป.4 เธอเป็นคนขี้อายมาก แต่พอได้ทำกิจกรรมจิตศึกษา อยู่ในวงสนทนาที่ครูรับฟัง ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด หรือการตัดสินกัน หวานรู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะแสดงความคิดเห็นและพูดต่อหน้าผู้คน "หนูเคยไม่กล้าถามคำถามเลย แต่ตอนนี้หนูรู้แล้วว่าถ้าไม่ถาม ก็จะไม่เข้าใจสิ่งที่เรียนและพัฒนาตัวเองได้"
ติ๊กเล่าว่าจิตศึกษาสอนให้เธอมองเห็นมากกว่าตนเองและเข้าใจผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของเธอ "อย่างเวลาทำตัวกับน้องหรือการทำงานบ้าน พอหนูได้มาเรียนจิตศึกษา หนูก็ได้รู้ว่าถ้าทำเรื่องนี้ได้ดีก็น่าจะแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ หนูรู้ว่าพวกท่านอาจจะไม่อยู่กับเราตลอดไป ก็ควรช่วยท่านและฝึกฝนความรับผิดชอบของตัวเอง"

สำหรับ PBL หรือการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ติ๊กบอกว่า แต่ก่อนเธอไม่ค่อยชอบทำงานในคาบเรียน หรือเวลามีการบ้านก็จะ "ดองไว้" แต่เมื่อได้ลงมือปฏิบัติจริงกับหน่วยเนื้อหาที่หลากหลาย เธอตัดสินใจลองทำดูเพราะอาจจะทำได้ดีก็ได้ ผลที่ออกมาคือทั้งทำได้ดีและสนุก "หนูชอบหน่วยที่เกี่ยวหลักการทางวิทยาศาสตร์และอวกาศเป็นพิเศษ เรียนกับ PBL ทำให้ได้ตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ และได้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง"
"ถ้าเป็นไปได้หนูอยากเรียนแบบนี้ไปจนจบ ม.6 เลย" ติ๊กพูดต่อ "แต่ถ้าโรงเรียนมัธยมที่ไปเรียนต่อไม่สอนแบบนี้ หนูก็จะปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ทบทวนว่าจิตศึกษาที่เคยเรียนมามีประโยชน์กับเราหรือเปล่า ถ้ามี เราก็ต้องดูว่ามันจะช่วยเรายังไงได้บ้าง"
สุภัทรา สุทธิ: จากครูแกนนำสู่ผู้นำสถานศึกษา ที่สร้างพลังร่วมและเพาะเมล็ดแห่งความเท่าเทียม
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมความเป็นผู้นำของสตรี เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและทำให้การศึกษาไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งยังเป็น 2 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก 17 เป้าที่ไม่อาจแยกส่วนกันพัฒนาได้
เนื่องในวันสตรีสากลและการเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์แห่งความเท่าเทียมทางเพศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราคุยกับครูแวว–สุภัทรา สุทธิ แห่งโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ อ.ภูเพียง จ.น่าน ถึงประสบการณ์การเป็นครูแกนนำโครงการ Access School บทบาทผู้นำผู้หญิง และการปรับใช้สิ่งที่ได้รับจากการพัฒนาศักยภาพภายใต้โครงการฯ ในสนามของการทำงานจริง
ก่อนย้ายมาที่โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ ครูแววสอนที่โรงเรียนแม่ขะนิงในอำเภอเวียงสา เนื่องจากโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือเป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนสอนคิด ของสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป. น่าน เขต 1 ครูแววจึงได้เริ่มรู้จักเครื่องมือสอนคิดและเริ่มต้นเส้นทางการเป็นครูแกนนำเรื่องนวัตกรรม เธอได้เข้าอบรมการจัดการเรียนการสอนแบบสอนคิดที่โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และเข้ามามีบทบาทในการร่วมวางแผนและดำเนินการกิจกรรมของสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป. น่าน เขต 1 และได้รับการสนับสนุนจากผู้อำนวยการโรงเรียนให้เป็นครูแกนนำสอนคิด “ตอนแรกก็หวั่น ๆ เพราะไม่ค่อยเข้าใจ” ครูแววกล่าว “รู้สึกว่าปรับใช้เครื่องมือสอนคิดได้ไม่หมด แต่ต่อมามีโอกาสได้ไปอบรมอีก เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มขึ้น และค่อย ๆ ปรับ ค่อยแต่งแนวทางการสอนของโรงเรียนไปทีละน้อย จนต่อมาเราก็เป็นโรงเรียนสอนคิดได้ในบริบทของเรา”
จากครูแกนนำ สู่ผู้นำสถานศึกษา
จากครูที่ได้รับการหนุนเสริมเป็นแกนนำของโรงเรียน จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของโรงเรียนทำให้เธอได้ก้าวขึ้นสู่บทบาทผู้นำอีกขั้น คือช่วงต้นปี 2565 ที่อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือลาออก และเธอได้รับมอบหมายโดยเขตพื้นที่การศึกษาให้รักษาการผู้อำนวยการ “แรกเริ่มก็เกิดความหนักใจ เพราะงานหลาย ๆ อย่าง ตำแหน่งผอ.เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เรา เรามีหน้าที่สอน แต่โชคดีที่เราสามารถคุยกับครูที่โรงเรียนและชุมชนว่าทิศทางจะเป็นยังไง จะยุบรวมตามแผนที่เขตกำหนดไหม หรือจะไปต่อ ทั้งครู แม้กระทั่งนักการภารโรงก็บอกว่า เรายังมีกันอยู่ เรายังอยู่กันต่อไปได้”
“ถ้าครูแววสอนคณิตศาสตร์ในคาบไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้าช่วงนี้ครูแววไม่อยู่โรงเรียนจะมอบหมายงานกันยังไง สิ่งเหล่านี้เราต้องคุยกัน เราใช้วิธีพูดคุยเสมอ พอมีประเด็นเรื่องงบหรือการจัดการเรียนการสอน พวกเราก็ช่วยกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนของเด็ก เป็นสิ่งที่ต้องคุยกันรายวัน เราเจอปัญหาปุ๊บก็รีบแก้ในแต่ละวัน”
ครูแววกล่าวว่า หลังจากที่เธอและครูโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือได้ “รับอาวุธ” ด้านการจัดการเรียนการสอนจากการมีส่วนร่วมกับโครงการ Access School อาทิ เครื่องมือสอนคิด ทักษะสมองของเด็ก (Executive Functions) หรือนวัตกรรมที่ได้เรียนรู้จากเครือข่ายโรงเรียนข้ามพื้นที่อย่าง จิตศึกษา โรงเรียนจะพัฒนาและเติมเต็มระบบให้พร้อมกับภาคเรียนหน้า ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมและฟังเสียงของครูทั้งเก่าและใหม่ “เราจะสร้างวิถีใหม่ ซึ่งจะผ่านการคิดร่วมกันกับทุกคน” ครูแววกล่าว
เมื่อพูดถึงการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ อีกหนึ่งกิจกรรมที่ครูแววได้เข้าร่วมคือการอบรมเรื่องอำนาจและความเป็นธรรมทางเพศสำหรับครูแกนนำ (School Champion) ของโครงการฯ ครูแววเล่าว่าได้นำสิ่งที่ได้จากการอบรมไปใช้ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน และโดยเฉพาะในจังหวะชีวิตที่ได้รับหน้าที่ผู้นำสถานศึกษา ความรู้และมุมมองใหม่ ๆ จากกระบวนกรผู้เชี่ยวชาญอย่าง อวยพร เขื่อนแก้ว และนัยนา ประไพวงศ์ ช่วยให้เธอเป็นผู้นำที่ดีและทำงานอย่างมีความสุข
“เรื่อง deep listening (การฟังอย่างลึกซึ้งด้วยใจและปราศจากการตัดสิน) จากการอบรม ครูแววเอามาปรับใช้ตั้งแต่ระดับครอบครัว พอเรารู้ว่าการเป็นผู้ฟังที่ดีเป็นยังไง ให้อะไร เราก็เริ่มฟังและใส่ใจกันมากขึ้น ส่วนกับเพื่อนร่วมงานหรือครูรุ่นน้อง ก่อนหน้านี้เราเดินมาด้วยกัน ปรึกษากัน แต่เราอาจจะไม่ได้ฟังความคิดเห็นเขาในบางครั้งเพราะประสบการณ์ที่ต่างกัน แต่หลังอบรม พอมีประชุมหรือพูดคุยกันเราจะฟังน้อง ๆ มากขึ้น คนรุ่นใหม่เขาคิดยังไง แล้วรุ่นเราคิดยังไง เพื่อที่เราจะปรับตัวเข้าหากันเวลาทำงาน เข้าใจกันและเรียนรู้จากกัน มีหลายเรื่องที่เราสอนเขา เขาสอนเรา น้องบางคนอยู่ในชุมชนมานานกว่า ฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องบริบทชุมชนเราก็ต้องฟังเขา”

เมื่อมองบทบาทหน้าที่ของครูแววตอนนี้ การเป็นผู้ฟังที่ดีสำคัญอย่างไร?
“บางครั้งเราฟังแบบไม่ตั้งใจ ไม่ใคร่ครวญ การที่เราจะช่วยเหลือใครหรือทำงานให้สำเร็จ การเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นสำคัญ ถ้าเราไม่ฟังแล้วออกความเห็นในสิ่งที่เราไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เราอาจจะไม่สามารถคุยกันด้วยเหตุผลและข้อมูล แล้วไม่สามารถเอามาพัฒนางานได้ ถ้าเราเอาแต่จะพูดความคิดของตัวเอง หรือทำงานแบบสั่งการ ‘พี่ว่ามันควรจะเป็นแบบนั้น’ มันจะเป็นการใช้อำนาจผู้เหนือผู้อื่น และการทำงานจะมีปัญหา เพราะเราคนเดียวอาจจะคิดไม่ครบทุกแง่มุม”
“ตัวครูแววเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ตั้งแต่มาทำหน้าที่รักษาการและเป็นผู้นำคนอื่น เราต้องเป็นคนที่ฟังคนอื่นมากขึ้น การแสดงความเห็นต่าง ๆ เริ่มน้อยลง หรือไม่พูดออกมาโดยที่ไม่คิดไตร่ตรองก่อน”
“อย่างงานศิลปหัตถกรรมจังหวัดที่โรงเรียนของเราเป็นที่พักสำหรับผู้เข้าร่วม โรงเรียนกลับเข้าสู่สภาพเดิมได้เร็วมากหลังกิจกรรม เพราะเราวางแผนอย่างมีส่วนร่วมมาตลอด ถ้าไม่ได้ทำแบบนั้น ครูแววว่าหลังงาน 2 วันเรายังต้องเก็บสถานที่กันอยู่ ยังไม่ได้ทำการเรียนการสอน” ครูแววเล่า “พอผลสำเร็จของงานนี้ออกมา เรารู้สึกว่าเราได้ภูมิใจร่วมกัน ไม่ต้องพูดว่าความคิดไหนเป็นของใคร”
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่สำคัญไม่แพ้กันคือความสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน การฟังอย่างลึกซึ้งและใคร่ครวญคือจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างพลังและศักยภาพในตัวเด็ก “ยิ่งเป็นเด็กที่ถูกรังแก เวลาที่เขาพูดอะไรเกี่ยวกับครอบครัว ตัวเอง หรือเพื่อน เรารับฟังเขามากขึ้น ใส่ใจเขามากขึ้น” ครูแววกล่าว “เด็กจะรู้สึกว่าครูก็ใส่ใจเรานะ ครูเองก็รู้สึกเบาขึ้นและมุมมองที่มองเด็กก็เปลี่ยนไป ไม่ได้ตัดบทหรือเบรกความคิดหรือเบรกสิ่งที่เขาอยากพูด สิ่งที่เขาพูดนั้นมีที่มามีเหตุผลไม่แพ้กับที่ผู้ใหญ่พูด”
Power sharing
รูปแบบการสอนและการวัดผลแบบเดิม ๆ ของการศึกษาไทย ส่งผลให้เด็กถูกแบ่งออกเป็น “เด็กเก่ง” กับ “เด็กหลังห้อง” ครูแววมองว่าแนวทางเดิมของเธอเป็นการผลิตซ้ำระบบนั้น “เดิมเราอาจจะมองว่าคนนี้เก่ง ปานกลาง หรืออ่อน เราให้เด็กที่อ่อนทำแบบฝึกหัดที่ต่างจากคนอื่น” เธอเล่า “แต่ตอนหลังเรามองว่า ต้อง empower ให้เขาทำไปพร้อม ๆ กัน ให้เขามีความรู้สึกมีส่วนร่วมและทำสำเร็จได้เหมือนกัน ไม่มีความรู้สึกแปลกแยก เขาจะทำได้มากข้อเท่าเพื่อนหรือไม่ก็ลองก่อน แล้ววิชาของครูแววคือคณิตศาสตร์ ซึ่งความเข้าใจของคนเรามันไม่เหมือนกัน ถ้าเขาไม่เข้าใจ เราก็ต้องหาวิธีทำให้เขาเข้าใจ เมื่อมุมมองตรงนี้เปลี่ยน เราเลยรู้สึกว่าแคร์ความรู้สึกเด็กมากขึ้นไปอีก เข้าใจความรู้สึกเขามากขึ้น”
หลัก empowerment (การเสริมพลัง) และ power sharing (การสร้างอำนาจร่วม) เป็นสิ่งที่ครูแววนำมาปรับใช้ในองค์กรเช่นกัน เพราะโรงเรียนไม่มีตำแหน่งผู้บริหาร ทุกคนจึงต้องทำงานไปด้วยกันอย่างเพื่อนร่วมทาง ไม่มีใครเป็นหัวของใคร และมีชุมชนเป็นที่ปรึกษา
“เริ่มจากการช่วยกันตัดสินใจและแบ่งหน้าที่ เราวางแผนล่วงหน้าสองวันให้รู้ว่าใครไปทำอะไร เวลาไหน อย่างวันนี้คุณครูคนหนึ่งไปอบรมช่วงบ่าย เราก็จะคุยสรุปกันว่าให้เขาสอนอนุบาลก่อน พอช่วงบ่ายนักเรียนหลับ ก็ไปอบรมและเอางานที่โรงเรียนต้องส่งเขตพื้นที่ฯ ที่ติดไปด้วย เพราะมันไม่จำเป็นต้องเป็นผอ.คนเดียวที่เป็นคนไปส่งงาน”
“การแบ่งงานกันอย่างเชื่อมั่นทำให้เราเก่งขึ้นด้วย อย่างครูอนุบาลคนนั้น เดิมทีเป็นครูธุรการทำแต่เรื่องเอกสาร พอโรงเรียนเราขาดครู เขามาช่วยดูเด็กอนุบาลด้วยความเต็มใจ จนเดี๋ยวนี้เป็นหัวหน้าครูอนุบาลแล้ว เขาได้มาใช้ความสามารถที่มีและเรียนรู้เพิ่มจนทำได้”
จากจุดเริ่มต้นในระดับบุคคล วันนี้ โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือเป็นองค์กรที่มี power sharing สูง “ครูแววจะไม่มองว่าใครเป็นอัตราจ้าง ใครคือพนักงาน ครูวิกฤติหรือครูพี่เลี้ยง เราทำงานไปด้วยกัน โรงเรียนคือบ้านที่เราอยู่ด้วยกันนานมาก เกือบ 10 ชั่วโมงต่อวัน นี่คือที่มาของความสุขในการทำงาน คือบางวันก็มีเรื่องเครียด แต่ไม่ได้มาจากความขัดแย้งกันนะ เราเครียดกับเนื้องานและการวางแผนการทำงาน จะทำอะไรอย่างไร แต่พอเราไม่มีเรื่องตำแหน่งใครใหญ่ ใครตาม เป็นกรอบให้กัน เรามาทำงานไปด้วยกัน ช่วยกัน มันผ่านไปได้”
“เชื่อไหมว่า แรก ๆ ครูแววไม่กล้านั่งหัวโต๊ะเลย หวั่นใจว่าพอเราพูดอะไรไป เขาจะฟังเราไหม ให้เกียรติเราไหม หลังจากได้เป็นผู้ฟัง ได้แลกเปลี่ยนกัน ได้ความรู้เรื่องความเท่าเทียม อำนาจ หรือวิธีการทำงาน ณ วันนี้ครูแววรู้สึกมีความสุขกับการทำงาน และสบายใจขึ้น เราคุยกันในฐานะเพื่อนร่วมงาน อยู่เรือลำเดียวกันละ เราจะพาเรือลำนี้ไปด้วยกันยังไงมากกว่า พอเราทำงานแบบนี้เรารู้สึกไม่เหนื่อย ไม่เหนื่อยที่จะต้องมาคอยพะวงว่าเขาจะฟังเราไหม จะปฏิบัติกับเรายังไง ไม่เกร็งเรื่องนั้นเลย”
ครูแววเคยคิดไหมว่าถ้าโรงเรียนได้ผอ.ใหม่ จะเป็นอย่างไร?
"ครูแววเชื่อมั่นในเรื่องระบบนะ” เธอตอบ “ระบบสำคัญกว่าคน ถ้าเราสร้างระบบที่ดีอยู่ตรงนี้แล้ว เมื่อผู้นำคนอื่นเข้ามา เราก็เชื่อว่าเขาน่าจะเห็นและให้เกียรติเรา แต่ถ้าเขาคิดจะเปลี่ยน และเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เราก็พร้อมเปลี่ยน แต่ถ้าไปในทิศทางที่อาจมีปัญหา เราก็ต้องคุยกัน ให้ข้อมูลกัน เมื่อครูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในแง่นี้ ครูแววเชื่อว่าไม่มีปัญหาแน่นอน”
สู่การปลูกฝังความเท่าเทียม
ความเข้าใจผ่านการฟัง และความเข้าใจเรื่องอำนาจ ช่วยให้เราเห็นที่มาของความไม่เท่าเทียมและความรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่การรับมือ-ป้องกัน และแนวทางที่จะเลิกผลิตซ้ำอคติและความรุนแรง ในฐานะครูแกนนำโครงการ Access School ครูแววจะมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรความเป็นธรรมทางเพศ ที่จะถูกทดลองใช้ในโรงเรียนต้นแบบ เพื่อเป็นโมเดลสำหรับการขยายผลสู่โรงเรียนอื่น ๆ ส่งผลให้ห้องเรียน โรงเรียน ครอบครัว และชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทุกคน
“ครูแววมีเพื่อนที่มีความหลากหลายทางเพศเยอะ และอยู่กับเขาด้วยความเข้าใจมาโดยตลอด ที่โรงเรียนก็มีเด็กนักเรียนที่มีตัวตนหลากหลาย บางคนเรารับรู้ได้ตั้งแต่อนุบาล พอได้ไปอบรมมาก็เห็นโลกกว้างขึ้นและเข้าใจลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม ครูแววดีใจ เพราะสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ถ้าเราให้ความรู้เขา เขาจะได้รู้ว่ามีคนเข้าใจและยอมรับเขาอยู่”
“วิธีการของครูแววคือเริ่มที่คุณครูก่อน ถ่ายทอดให้เพื่อนครูฟัง เราจะไม่อธิบายให้เด็กเล็กเข้าใจหรอกว่าโลกนี้มีความหลากหลายอะไรบ้าง แต่เราจะคุยกับผู้ใหญ่ก่อน ครูเราจะไม่ว่าให้เขา ไม่ใช้คำตรีตราเด็ก เราไม่ถึงกับจัดเลคเชอร์ให้ครู แต่มีประเด็นอะไรขึ้นมาถึงจะค่อย ๆ แชร์ สถานการณ์จะสร้างพระเอกนางเอกขึ้นมาให้เราสามารถคุยกับเขาได้ในเวลานั้น ถ้าเวลานักเรียนเจอเพื่อนที่ว่าเขาด้วยคำต่าง ๆ ครูก็จะบอกว่าทุกคนจะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้มีความสุข เด็กเขาก็จะซอฟต์ลง อย่างกรณีของพี่ต้น (นามสมมติ) เขาเดินมาบอกครูว่าเพื่อน ‘เป็นกะเทย ชอบเอาผ้ามาคลุมแล้วทำเป็นกระโปรง’ ในท่าทางฟ้อง ครูแววก็จะบอกว่า ‘ต้น ไม่เป็นไรเลย นัท (นามสมมติ) เขามีความสุขไหมตอนที่เขาทำ’ เขาตอบว่า ‘มีความสุขครับ’ ‘เห็นไหมเขามีความสุข แล้วต้นควรจะไปว่าให้พี่นัทไหมลูก’ เขาก็คิดได้แล้วตอบเองว่า ‘ไม่ควรครับ’
‘ในขณะเดียวกัน ต้นชอบเล่นแบบที่ต้นเล่น ต้นมีความสุขไหม’
‘ครับ’
‘ถ้าต้นทำแบนนั้นแล้วมีความสุข ก็ไม่ควรไปว่าให้เขา’"
ครูแววเสริมว่าโรงเรียนจะยังไม่สอนเป็นเรื่องเพศเป็นเรื่องเป็นราว เพียงแต่ทำให้เด็ก ๆ รู้ว่า ไม่มีอะไรที่เขาเป็นแล้วจะแปลกแยก หรือด้อยกว่าใคร “ทุกคนมีคุณค่า ครูเองก็เหมือนกัน ครูแววคุยเรื่องการทาสีห้องน้ำ ต่อไปเราจะไม่ทาสีแบ่งแยกแล้วนะ หรือว่าแก้วน้ำสีชมพูต้องเป็นของผู้หญิง สีฟ้าของผู้ชาย จะสีอะไรก็ได้ ที่นอนเด็กอนุบาล เพศไหนนอนสีอะไรก็ได้ พอครูเขาได้ยินก็คิดได้ ‘เออจริงเนอะ’ เหมือนเราถูกปลูกฝังเรื่องบทบาทเพศโดยวัฒนธรรมมา ตอนนี้เราเลยต้องพยายามให้มันกลืนไปทีละน้อย ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเท่าเทียมกันทุกคน ครูแววก็เชื่อมั่นในสิ่งนี้และพยายามสอนเด็กให้เป็นอะไรก็ได้ เน้นให้เขาความสุข แม้โรงเรียนเราจะมีเด็กที่มาจากบ้านที่ลำบาก ไม่พร้อมเท่าเด็กที่ถูกส่งไปเรียนในเมือง แต่ตัวเราเป็นครู เราจะไม่ดูถูกเด็ก เราให้เขาเรียนที่โรงเรียนเราอย่างมีความสุข อ่านออกเขียนได้คิดได้ รู้เท่าทัน ใช้ชีวิตให้เป็น”
“พอเขากลับไปหาครอบครัว เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรได้ทั้งหมด แต่ในระหว่างที่เขาอยู่กับเราที่นี่ 6 ชั่วโมง เราจะพยายามหล่อหลอมให้ดีที่สุด เป็นบ้านหลังที่สองที่จะให้เขาตรงนี้ได้”
.
ในวันนี้โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือมีนักเรียน 37 คน โดยครูแววคาดว่าปีหน้าอาจจะมีเพิ่มประมาณ 2-3 คน ซึ่งยังไม่ครบจำนวนขั้นต่ำที่จะได้รับการจัดสรรผู้อำนวยการตามระเบียบของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (61 คน) และเมื่อการสอนแบบรวมกลุ่มโรงเรียนที่มีระยะทางอยู่ในพื้นที่ใกล้กันไม่ใช่ความต้องการของโรงเรียนและชุมชน บทบาทผู้นำสถานศึกษาของครูแววจึงต้องดำเนินต่อไป
ก่อนจบการพูดคุย เธอได้ตกผลึกประสบการณ์ในบทบาทต่าง ๆ ที่ทับซ้อนกันว่า
“เราเป็นทั้งผู้นำและครู เป็นผู้นำหญิงซึ่งในตัวตนของเราทุกคนมีทั้งความเป็นหญิง (feminine) และชาย (masculine) ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรมากน้อยแค่ไหน เรามีคุณค่าในตัวเอง ครูแววมองว่า เราอยู่จุดไหน เรามีหน้าที่อะไร เราควรทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อยู่ที่บ้านเราเป็นสมาชิกครอบครัว เราทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุด พอเรามาทำงานก็เช่นกัน เห็นคุณค่าของบทบาทนั้นและคุณค่าในตัวเราให้มากที่สุด เมื่อเราผิดพลาดก็อย่าดูถูกหรือทำร้ายตัวเอง และทำให้ตัวเองมีความสุข”
“ตอนนี้เราผ่านจุดเปลี่ยนของโรงเรียนมาหนึ่งปีแล้ว จริงที่ช่วงแรกเราปรับตัวกันพอสมควร แต่วันนี้ครูแววว่ามันเข้าที่แล้ว และไปต่อได้ เรายังพากันไปต่อได้หลายปี”
ภาคประชาสังคมยื่นข้อเสนอ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 นวัตกรรม” แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 โครงการแอ็คเซส สคูล (ACCESS School) ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน นำโดยสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย สมาคมไทบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป จัดเวทีสาธารณะ “ฟังเสียงโรงเรียนเล็ก ก้าวใหม่ ไปด้วยกัน” ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษาร่วมสร้างเส้นทางใหม่เพื่อให้โอกาสโรงเรียนขนาดเล็กอยู่กับเด็กและชุมชน
ในงานดังกล่าวประกอบไปด้วยการนำเสนอความสำเร็จของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ใช้นวัตกรรมการเรียนการสอน Active Learning เพื่อยกระดับคุณภาพในบริบทที่ท้าทาย การยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” ของเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กและองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษาต่อกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้แทนรัฐมนตรี ตรีนุช เทียนทอง นอกจากนี้ผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาสังคม และโรงเรียนขนาดเล็กยังร่วมชักธงโรงเรียนขนาดเล็กจำลองขึ้นเสา แสดงถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย คณะทำงานโครงการ ACCESS School กล่าวว่า โครงการฯ ทำงานร่วมกับเครือข่ายการศึกษาโดยสอดรับกับความต้องการของชุมชนยากจนและชายขอบมากที่สุด โดยเฉพาะบริบท ความท้าทาย และคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีความหลากหลายและมีผลกระทบต่อเด็กและชุมชนจำนวนมาก และต้องการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาผ่านการพัฒนาขีดความสามารถของภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็งและสร้างกลไกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับชาติและระดับพื้นที่
"โมเดลโรงเรียนขนาดเล็ก" ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ จะเป็นแผนแม่บทในการสร้างกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน และอยู่บนฐานของนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม ในปีที่ 3 ของโครงการฯ (พ.ศ. 2565) มีเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กที่ปรับใช้นวัตกรรมต้นแบบกับบริบทพื้นที่แล้วกว่า 168 โรงเรียน ก่อเกิดครูแกนนำ ผู้นำสตรีด้านการศึกษา นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนขนาดเล็ก และคณะกรรมการสถานศึกษาที่เข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาใน 8 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และน่าน

ฟรานเชสก้า จิลลี่ ผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายความร่วมมือ สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้สอดคล้องกับคุณค่าที่สหภาพยุโรปยึดมั่น นั่นคือสิทธิของเด็ก สิทธิเด็กเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่สหภาพยุโรปต้องเคารพ คุ้มครอง และรักษา เด็กทุกคนควรได้รับสิทธิอย่างทั่วถึงและสามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงทุกรูปแบบ ถึงแม้ว่าการเข้าถึงการศึกษาจะดีขึ้นในหลายศตวรรษที่ผ่านมา หากพูดถึง “สิทธิในการศึกษาที่มีคุณภาพ” นั้นยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่ต้องเติมเต็ม การทำให้เด็กสามารถไปโรงเรียนได้นั้นไม่เพียงพอหากห้องเรียนยังไม่มีคุณภาพและครูไม่สามารถทำการสอนได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้มากขึ้น
หลักการข้อแรกของเสาหลักด้านสิทธิทางสังคมของสหภาพยุโรป (the European Pillar of Social Rights) เน้นย้ำถึงสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การเข้าถึงการฝึกทักษะ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้บุคคลมีทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่ทำให้ตนสามารถประสบความสำเร็จในตลาดแรงงานและใช้ชีวิตอย่างมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่
สหภาพยุโรปชื่นชมในความมุ่งมั่นและตั้งใจของกระทรวงศึกษาธิการในการบรรลุผลนโยบายการศึกษาถ้วนหน้าตั้งแต่ พ.ศ. 2542 สิ่งนี้ไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายสำหรับรัฐบาลใดก็ตาม แต่ขอให้ท่านทราบว่ากระทรวงไม่ได้ทำงานโดยลำพัง ภาคประชาสังคมที่เห็นในวันนี้พร้อมสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ การสร้างการมีส่วนร่วมจะเป็นกุญแจสำคัญสู่การปฏิรูปการศึกษาที่สัมฤทธิ์ผล เราเชื่อว่าภาคประชาสังคมที่ได้รับการส่งเสริมคือส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งของระบบการปกครองและบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาหรือในภาคส่วนใด

ทางเลือกใหม่ ให้โอกาสโรงเรียนขนาดเล็กอยู่กับเด็กและชุมชน
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย กล่าวว่า ข้อเสนอ "1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม" ได้รับการลงนามโดยเครือข่ายครู ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กและภาคประชาสังคมด้านการศึกษา สภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ เครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา (ภาคกลาง) สมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป.น่าน เขต 1 และโครงการ ACCESS School มีรายละเอียด ดังนี้
- ให้มีการส่งเสริมโครงการ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” เพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าเงื่อนไขหรือเข้าร่วม "โครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ" ให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน
- ให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนการศึกษา ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการของครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กในการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมการจัดการศึกษา หลักสูตร แผนการเรียนการสอน การวัดผลบนฐานสมรรถนะที่ภาคเอกชน ท้องถิ่น รวมถึงโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้ทดลอง สร้างสรรค์ พัฒนา และดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายการศึกษาชาติทั้งคุณภาพผู้เรียน คุณภาพครู ผู้บริหารและการมีส่วนร่วมของชุมชน และหลักธรรมาภิบาลของโรงเรียนขนาดเล็ก
- เพื่อให้โครงการ "1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม" สามารถปฏิบัติได้อย่างเต็มศักยภาพ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการและองค์กรที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ดังนี้
- ให้เพิ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ “โครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ได้เป็นสถานศึกษาพิเศษ (2) สถานศึกษาที่จัดการศึกษาในเชิงทดลอง วิจัยและพัฒนา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2550
- ให้โรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นโรงเรียนนวัตกรรมสามารถจัดการศึกษาได้ทั้งรูปแบบในระบบ นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตามมาตรา 15 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หรือเทียบเคียงกับการศึกษาตามคุณวุฒิ การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง และการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตในร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่
- ให้แก้ไข-ปลดล๊อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. / เทศบาล / อบต.) สามารถให้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ แก่โรงเรียนขนาดเล็กได้
- สนับสนุนให้ครูชุมชน เช่น ครูภูมิปัญญา สถานประกอบการ ผู้นำศาสนา ฯลฯ สามารถเป็นผู้ครูผู้ช่วยหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและครูได้
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ข้อเสนอ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 นวัตกรรม” สอดคล้องกับนโยบายของ สพฐ. ที่ต้องการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กโดยมีบริบทของพื้นที่เป็นฐาน และการใช้นวัตกรรม Active Learning ขับเคลื่อนอยู่แล้ว พร้อมระบุว่า รัฐไม่มีนโยบายยุบควบรวม โรงเรียนขนาดเล็กที่เข้มแข็งและมีคุณภาพจะอยู่ต่อไป ไม่มีการบังคับยุบหรือควบรวม ส่วนนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลที่มีอยู่นั้นจะรองรับโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ให้มาใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยเป้าหมายคือมีผู้เรียนเป็นสำคัญคือต้องรับการศึกษาที่ดี
ดร.อัมพร กล่าวว่า ตนจะรับข้อเสนอ "1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม" ของเครือข่ายโรงเรียนและภาคประชาสังคมไปนำเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อกำหนดเป็นนโยบายของรัฐ และนำไปเป็นกรอบแนวคิดสำหรับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ เพราะเขตพื้นที่เป็นหน่วยที่อยู่ใกล้โรงเรียนมากที่สุด

โรงเรียนขนาดเล็กเข้มแข็ง ด้วยต้นแบบและเครือข่ายที่เข้มแข็ง
โมเดลที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ ACCESS School เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้นนำนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning มาปรับใช้ตามบริบทของแต่ละโรงเรียนและพื้นที่ โดยมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งทั้งกับโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรม เครือข่ายโรงเรียนระดับจังหวัดและระดับภาค รวมถึงชุมชนเจ้าของโรงเรียนนั้น ๆ ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โมเดลดังกล่าวได้ขยายผลและสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส 168 แห่ง แบ่งเป็น
- ภาคเหนือ ประสบผลสำเร็จ 57 โรงเรียน ขยายผลโดยสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป. น่าน เขต 1โดยมีโรงเรียนแกนนำ 18 โรงเรียน และโรงเรียนขยายผลต่อ 39 โรงเรียน
- ภาคกลาง ประสบผลสำเร็จ 37 โรงเรียน ขยายผลโดยเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา (ภาคกลาง) ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี โดยมีโรงเรียนแกนนำ 6 โรงเรียน และมีโรงเรียนขยายผล 31 โรงเรียน
- ภาคอีสาน ประสบผลสำเร็จ 115 โรงเรียน ขยายผลโดยสมาคมไทบ้านและและสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด โดยมีโรงเรียนแกนนำ 20 โรงเรียน และโรงเรียนขยายผล 95 โรงเรียน
สำหรับนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่เครือข่ายโรงเรียนเหล่านี้รับมาปรับใช้ ได้แก่ จิตศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning / PBL) และชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community / PLC) ซึ่งมีต้นแบบมาจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ และนวัตกรรมเครื่องมือสอนคิด (Thinking Tools) ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จ.เชียงราย
ในเวทีเสวนา “ฟังเสียงโรงเรียนเล็ก ก้าวใหม่ ไปด้วยกัน” ที่ดำเนินขึ้นหลังการมอบข้อเสนอต่อผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนต้นแบบนวัตกรรมและเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กร่วมสะท้อนประสบการณ์ของการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนด้วยนวัตกรรม และการหนุนเสริมโรงเรียนขนาดเล็กให้คงอยู่ได้ผ่านการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม
ดร.ศราวุธ สุตะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน อบจ.เชียงราย ต้นแบบโรงเรียนสอนคิด (Thinking School) กล่าวว่า ก่อนมีนวัตกรรม ผลการประเมินเกณฑ์ต่าง ๆ บ่งชี้ว่ามาตรฐานที่เด็กไทยตกคือเรื่องของการคิด เด็กไม่สามารถคิดไว คิดระดับสูงอย่างวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ และคิดสร้างสรรค์ได้ แต่ตนชื่อว่าเด็กแต่ละคนเก่งคนละด้าน ดังนั้น เมื่อออกแบบโรงเรียน จึงยกเครื่องมือสอนคิดเข้ามา เครื่องมือดังกล่าวมี 10 ชนิดและผู้สอนสามารถใช้เครื่องมือร่วมกับเนื้อหาวิชาการหรือการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียนได้ สิ่งที่พบจากการนำนวัตกรรมมาใช้คือ ผู้เรียนมีภาวะความเป็นผู้นำ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ช่วยเหลือคนเป็น Active Learning ไม่ใช่การร้องเล่นเต้นรำ แต่หมายถึงการเรียนรู้ในวันหนึ่งจะประกอบด้วย ความรู้ (knowledge) ทักษะ (skills) และความคิด (concept) การสอนแบบท่องจำอาจจะได้ผลดีในอดีต แต่วันนี้เด็กต้องเข้าใจ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินค่าได้

บุณฑริก ซื่อสัตย์ ครูโรงเรียนบ้านฮากฮาน จ.น่าน กล่าวว่า การใช้เครื่องมือสอนคิดพัฒนาทั้งเด็กและตัวครู และยังสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูในพื้นที่อื่น ๆ และสร้างกำลังใจให้ตนฐานะครูคนหนึ่ง "ทุกครั้งที่เหนื่อย เราได้คุยกับเพื่อนครูที่ประสบปัญหาเดียวกัน หัวอกเดียวกัน เรารู้สึก empowered มีพลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้มีความสุขและมีกำลังใจที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป"
นอกจากเพื่อนของครู บุณฑริกยังเป็นโค้ชของครู ภายในเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กจังหวัดน่าน เธอได้รับการฝึกฝนให้เป็นวิทยากรสอนคิด เพื่อที่จะขยายผลนวัตกรรมไปในโรงเรียนอื่น ๆ ภายในจังหวัด โรงเรียนบ้านฮากฮานจึงเป็นโรงเรียนแกนนำเพื่อให้โรงเรียนข้างเคียงในตำบลเดียวกันหรือต่างพื้นที่มาศึกษาดูงาน ตลอดจนให้คำปรึกษา "เมื่อเขามาดูโรงเรียนเราก็เห็นเด็ก ๆ และทุกอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เป็นการไม่ต้องพูดให้เสียงดัง แต่ให้การกระทำยืนยันผลสำเร็จของเครื่องมือสอนคิดนี้"
รัตนา บัวแดง ครูโรงเรียนวัดโคกทอง จ.ราชบุรี ซึ่งรับนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC มาใช้ กล่าวว่า นวัตกรรมส่งผลให้โรงเรียนกับชุมชน และเด็ก ครู กับผู้ปกครอง มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เพราะว่านวัตกรรมจิตศึกษา ทำให้ทุก ๆ คนอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่มีศักดิ์ว่ามีความเป็นเด็ก เป็นครู เพราะฉะนั้น ทุกคนสามารถที่จะกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งกิจกรรมจิตศึกษา ครูนำไปใช้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียน ทำให้เด็ก ๆ มีความสนิทสนม กล้าพูดบางเรื่องที่อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะครูจะไม่บอกว่าอันนั้นผิด อันนี้ถูก ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น
รัตนาเสริมว่า สิ่งที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาทำให้โรงเรียนของตนเห็นคือการมีเครือข่าย เพราะโรงเรียนกำลังทำสิ่งที่ต่างจากเพื่อน ทำให้ไม่มีเพื่อนคู่คิด คู่ทำ จนกระทั่งทางลำปลายมาศเชื่อมให้รู้จักกับโรงเรียนวัดอมรวดี จ.สมุทรสงคราม และต่อมามีเพื่อนเป็นโรงเรียนวันมหาราช จ.ราชบุรี โรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ โรงเรียนบ้านหนองขาม จ.นครปฐม และ ต่อ ๆ มาอีกหลายโรงเรียน รวมตัวกันเป็นเครือข่ายโรงเรียน การที่เรามีเครือข่ายทำให้เรามีเพื่อนร่วมคิดร่วมทำ พากันเดิน จูงกันไป จนกระทั่งโรงเรียนวัดโคกทองได้มาเจอมูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล และโครงการ ACCESS School ซึ่งทำให้ได้มาร่วมพัฒนาบุคลากร โรงเรียนขนาดเล็ก และโมเดลการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในเวลาต่อมา
รับชมเวทีสาธารณะ “ฟังเสียงโรงเรียนเล็ก ก้าวใหม่ ไปด้วยกัน” ย้อนหลัง:
ช่วงที่ 1 การยื่นข้อเสนอและคำกล่าวของสหภาพยุโรปและผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ
ช่วงที่ 2 เสวนา "ฟังเสียงโรงเรียนเล็ก ก้าวใหม่ ไปด้วยกัน" โดยวิทยากร วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์, ดร.ศราวุธ สุตะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน อบจ.เชียงราย, พิชญ์สินี ชื่นชูวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ จ.นครปฐม, รัตนา บัวแดง ครูโรงเรียนวัดโคกทอง จ.ราชบุรี, บุณฑริก ซื่อสัตย์ ครูโรงเรียนบ้านฮากฮาน จ.น่าน, ทักษิน เชื้อสูง ผู้อำนวยการโรงเรียนจินดาสินธวานนท์ และอุทัย แก้วกล้า ประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์
ครูนวัตกรรุ่นใหม่: ACCESS School แสดงความยินดีกับนักศึกษาฝึกประสบการณ์สอน Active Learning ในโรงเรียนขนาดเล็ก
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 โครงการ ACCESS School และคณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จัดกิจกรรมมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาผู้สำเร็จการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูอย่างสมบูรณ์ ภายใต้โครงการนักศึกษาฝึกสอนนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีความสุข รุ่นที่ 1
ตลอดเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โครงการนักศึกษาฝึกสอนนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีความสุข ได้ช่วยฝึกฝนประสบการณ์พี่ ๆ นักศึกษาให้เป็นครูนวัตกรรุ่นใหม่ที่ร่วมพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชนผ่านการเรียนการสอนที่ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ มีส่วนร่วม และเรียนรู้อย่างมีความสุขผ่านนวัตกรรมแบบ Active Learning อาทิ จิตศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) รวมถึงนวัตกรรมสร้างคุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่เรียกว่า ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)
นอกจากพิธีมอบเกียรติบัตร พี่ ๆ นักศึกษาและคณะทำงานภายใต้โครงการ อาทิ สมาคมไทบ้าน สภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ยังได้สะท้อนบทเรียน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสร้างโมเดลสำหรับกิจกรรมนักศึกษาฝึกประสบการณ์ในรุ่นต่อ ๆ ไป และในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป
ACCESS School ขอแสดงความยินดีกับพี่ ๆ นักศึกษา หรือครูนวัตกรรุ่นใหม่ ทั้ง 22 คนอีกครั้ง
ครูแกนนำ ACCESS School อบรมเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ เพื่อโรงเรียนและชุมชนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
“ครูสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในชีวิตของเด็กได้ โดยสอนให้พวกเขาเห็นพลังในสิ่งที่ตัวเองเป็น และเคารพ โอบอ้อมอารีกับคนอื่นที่มีตัวตนแตกต่างจากพวกเขา”
ครูแกนนำโครงการ ACCESS School 20 ท่าน เดินทางมาพบกันที่บ้านกล้วยกล้วยรีสอร์ท จ.นครนายก ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2565 เพื่อร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในและนอกห้องเรียน และการออกแบบหลักสูตรความเป็นธรรมทางเพศที่ใช้แนวทางการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ
กิจกรรมตลอด 3 วันนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยการสร้างเสริมพลัง ทั้งสำหรับตัวคุณครูเอง และจะส่งต่อไปถึงเด็ก โรงเรียน เครือข่าย และชุมชนเจ้าของโรงเรียน โดยอยู่กับกระบวนกรผู้เชี่ยวชาญอย่าง อวยพร เขื่อนแก้ว เฟมินิสต์และนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ผู้ก่อตั้งศูนย์ผู้หญิงบ้านดินเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม และนัยนา ประไพวงศ์ ครูสอนโยคะและนักพัฒนาผู้มีประสบการณ์ทำงานกับกลุ่มรากหญ้าและกลุ่มชายขอบ
ในวันแรก หลังทำความรู้จักกันมากขึ้นและสร้างความไว้วางใจกัน คุณครูได้เรียนรู้ วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่อง “อำนาจ” (power) รูปแบบต่าง ๆ วิธีการใช้อำนาจในชีวิตผ่านพื้นที่ภายในครอบครัว ที่ทำงาน และสังคม รวมถึงแนวคิดและกระบวนการสอนแนวฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ (empowerment model)

ในวันที่สองและสาม ครูแกนนำเรียนรู้เกี่ยวกับระบบเพศและเพศวิถีในระบบเพศชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ซึ่งเป็นระบบที่เป็นฐานของความรุนแรง และโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม คุณครูได้ทบทวนประสบการณ์ชีวิตและสังคมโดยรอบเพื่อท้าทายและรื้อถอนความเชื่อฝังหัวที่เป็นต้นตอของอคติต่าง ๆ การเหยียดเพศ และความรุนแรงทางเพศ นอกจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านแนวคิดและทฤษฎี เคสตัวอย่าง และประสบการณ์ตรงของทุก ๆ ท่าน เหล่าครูแกนนำยังได้ถอดบทเรียนเรื่องการเสริมสร้างอำนาจผู้เรียนและความเท่าเทียมทางเพศจากสารคดีและภาพยนตร์อีกด้วย
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งหมดนำไปสู่พื้นที่โรงเรียน ในช่วงท้ายการอบรม คุณครูร่วมสร้างแนวทางการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน และกฎระเบียบของโรงเรียนที่จะช่วยป้องกันหรือลดอคติและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศได้ ภายในปีการศึกษาหน้านี้ หลักสูตรความเป็นธรรมทางเพศจะถูกพัฒนาขึ้นและทดลองใช้ เพื่อสร้างต้นแบบสำหรับการขยายผลสู่โรงเรียนอื่น ๆ และเพื่อการสร้างครอบครัว ห้องเรียน โรงเรียน และชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทุกคน

เกี่ยวกับครูแกนนำ:
เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและขยายผลโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพ โครงการ ACCESS School ได้คัดเลือกครูแกนนำผู้มีความมุ่งมั่นและประสบการณ์การใช้นวัตกรรมตามแนวทาง Active Learning จาก 8 พื้นที่จังหวัดเป้าหมาย เพื่อเป็นผู้สนับสนุนครูและโรงเรียนในเครือข่าย บทบาทของครูแกนนำนั้นรวมถึงการโค้ช ให้คำปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในระดับพื้นที่ จัดการอบรมการใช้นวัตกรรมการเรียนการสอนแบบ Active Learning สนับสนุนการปรับใช้หลักสูตรนวัตกรรม และการติดตามผลการเรียนการสอน ภายใต้โครงการฯ ครูแกนนำจะได้รับการอบรมหัวข้อต่าง ๆ อาทิ การทำงานบนฐานสิทธิ (Human Rights-Based Approach) ความเป็นธรรมทางเพศ (gender justice) และทักษะสมอง (executive functions)
Full Access: จดหมายข่าวโครงการ ACCESS School ฉบับที่ 2
ปี 2564 เป็นปีที่โครงการ ACCESS School ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ใน “ความปกติใหม่” สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสอย่างต่อเนื่องส่งผลให้กิจกรรมส่วนใหญ่ที่วางแผนไว้และการพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมในปีที่ 2 ของโครงการได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบ เลื่อนระยะเวลาออกไป หรือดำเนินขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์ แม้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้พบความท้าทายหลายประการ แต่ก็นับเป็นบทเรียนที่เอื้อให้องค์กรภาคประชาสังคมได้พัฒนาทักษะและศักยภาพในการบริหารโครงการ และมีความพร้อมสำหรับการทำงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาท่ามกลางความไม่แน่นอนอื่น ๆ ในอนาคต
ติดตามความก้าวหน้า เรื่องราวการเปลี่ยนแปลง และความสำเร็จของโครงการที่เกิดขึ้นในปี 2 ได้ในจดหมายข่าว Full Access: จดหมายข่าวโครงการ ACCESS School ฉบับที่ 2
ดาวน์โหลดจดหมายข่าว
โครงการ ACCESS School คือ โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2563-2566) บริหารโครงการโดยมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และสมาคมไทบ้าน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท โดยมุ่งส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษาในชุมชนของตน
ACCESS School หนุนเสริมภาคประชาสังคมขับเคลื่อน SDG 4 ผ่านเวทีสร้างการมีส่วนร่วมและรายงาน VNR
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (SDG4) ซึ่งว่าด้วยการศึกษาคุณภาพ เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งใน 17 ข้อที่ประเทศไทยและองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญและสนใจเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมและได้รับโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
โครงการ ACCESS School ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมด้านการศึกษา ที่จะเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมกับภาครัฐ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึงตามบริบทของผู้เรียนและเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในวันที่ 7-8 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โครงการฯ จึงได้จัดการประชุมหัวข้อ “แนวทางการมีส่วนร่วมและบทบาทของภาคประชาสังคมด้านการศึกษา ในการติดตามสนับสนุนและขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4” ในวันที่ 7 ตุลาคม 2565 และการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การเขียนรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review หรือ VNR) ตามมาในวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ณ ห้อง Beijing & Berlin โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นนาดา ดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมาย (1) เพื่อเป็นเวทีให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนสถานการณ์การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย (2) เพื่อให้ภาคประชาสังคมด้านการศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของ SDGs มากยิ่งขึ้น รวมถึงบทบาทแนวทางการมีส่วนร่วมในการติดตาม สนับสนุน และขับเคลื่อน SDG4 ร่วมกับภาครัฐและกลไกตามกระบวนการอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และ (3) เพื่อเป็นเวทีให้ภาคประชาสังคมด้านการศึกษาในการศึกษาและพัฒนากระบวนการจัดทำร่างรายงานการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ ในประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4 ของประเทศไทยเพื่อเสนอต่อองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
โรงเรียนขนาดเล็ก: ปัญหาที่ไม่เคยหายไป หรือโอกาสใหม่ในการจัดการศึกษา?
ปัญหาการยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่มักจะสร้างความขวัญเสียให้กับผู้อำนวยการ ครู และผู้ปกครอง โดยเฉพาะโรงเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เช่น โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 40 คน อย่างไรก็ดี โรงเรียนเหล่านี้กระจายตัวตามพื้นที่ของประเทศไทยและมีข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนในหมู่บ้านเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยากต่อการเข้าถึง และอยู่ในชนบทที่มีปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจ
จากการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานภาพรวมของโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย โดยการวิเคราะห์จากข้อมูลสารสนเทศของจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยจะเห็นได้ว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้นเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โดยร้อยละของโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561-2563 มีจำนวนที่มากขึ้น ในปี 2563 มีร้อยละของโรงเรียนขนาดเล็กถึง 50 จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จำนวนโรงเรียนในประเทศไทยมีน้อยลงเนื่องจากการยุบเลิกสถานศึกษาตามนโยบายของภาครัฐ แต่สิ่งที่สะท้อนผลคือ จำนวนของโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปี 2562 จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจำนวน 133 โรงเรียน และในปี 2563 มีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจำนวน 123 โรงเรียน สาเหตุอาจมาจากจำนวนประชากรวัยเรียนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากรายงานสถิติรายปีประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2560-2562 พบว่า ประชากรแรกเกิดมีอัตราลดในทุกปีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว ประกอบกับการแข่งขันทางศึกษาที่สูงขึ้น ผู้ปกครองที่ไม่เชื่อมั่นในคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น จึงเลือกที่จะส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรมากกว่า เช่น โรงเรียนประจำอำเภอ โรงเรียนประจำจังหวัด ทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น โรงเรียนขนาดกลางลดลงจนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีนักเรียนจนถูกควบรวมและยุบเลิกสถานศึกษาในที่สุด
โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยทั้งหมดในปี 2563 มีจำนวน 14,976 โรงเรียน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนถึง 7,214 โรงเรียน แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนโรงเรียนในแต่ละภาคแล้วจะเห็นได้ว่า ร้อยละของโรงเรียนขนาดเล็กที่สูงที่สุดคือ ภาคเหนือคือ ร้อยละ 56.6 สาเหตุมาจากโรงเรียนขนาดเล็กในภาคเหนือจะอยู่ในพื้นที่สูง ห่างไกล เดินทางลำบาก และอยู่ในพื้นที่มีความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม หลากหลายทางชาติพันธุ์ และความเชื่อ ทำให้ไม่สามารถควบรวมได้
นอกจากจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นแล้ว จำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ในปี 2563 มีจำนวนนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก ถึง 968,992 คน โดยจำแนกเป็นเพศชาย 511,702 และเพศหญิง 457,290 คน โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาประถมศึกษา คือมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ ประถมศึกษาปีที่ 1-6 โดยภาคที่มีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ 467,313 คน คิดเป็นร้อยละ 48.2 ของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด จากการดำเนินงานนโยบายยุบควบรวมสถานศึกษาจากแนวปฏิบัติในปี 2562-2563 นั้นจะมีโรงเรียนที่เข้าเกณฑ์การพิจารณาดำเนินการ (จำนวนเด็กที่น้อยกว่า 40 คน) จำนวน 3,162 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 75,447 คน (สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2563) ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายในการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนของภาครัฐ ยังไม่รวมถึงผู้ปกครอง ครอบครัวและชุมชนของพวกเขา
จำนวนของของโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นนั้นสอดคล้องข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ ที่มีการรวบรวมไว้โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติผ่านการรวบรวมโครงสร้างประชากรตามอายุไว้นั้น บ่งบอกได้ว่า อัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี ในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเกิดเพียง 587,368 คน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีอัตราการเกิด 618,193 คน (ลดลง 30,825 คน) จำนวนนักเรียนที่จะเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (5-14 ปี) นั้นมี 7,650,332 ซึ่งลดลดจากปี 2562 เป็นจำนวน 111,108 ซึ่งมีอยู่ 7,761,440 คน จะเห็นได้ว่า จำนวนเด็กซึ่งเป็น Input ที่สำคัญของโรงเรียนลดลงเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ววิกฤติความศรัทธาและความเชื่อมั่นของผู้ปกครองคงจะเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก คุณภาพของการจัดการเรียนรู้ซึ่งมีกลไกที่สำคัญคือครู เมื่อจำนวนครูน้อย ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพของบุตรหลาน การตัดสินใจย้ายบุตรหลานไปยังโรงเรียนอื่นจึงเกิดขึ้นในยุคที่เส้นทางการคมนาคม ไม่ได้ลำบากอย่างแต่ก่อน จึงเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นมาก ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กยากต่อการสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ปกครองและรักษาจำนวนนักเรียนในเกินจากเกณฑ์ที่ สพฐ. กำหนด ตัวอย่างของวิกฤติความศรัทธาและความเชื่อมั่นของผู้ปกครองที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีเด็กจำนวนมากสมัครเรียน จนต้องมีการสอบการแข่งขันคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับ ป.1 ทั้งที่มีโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดเล็กกระจายตัวไม่ไกลจากโรงเรียนขนาดใหญ่นั้น เป็นหลักฐานยืนยันว่า คุณภาพการจัดการเรียนรู้ของบุตรหลานเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
คุณภาพการจัดการศึกษาที่สวนทางกับการบริหารจัดการ
เมื่อคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของบุตรหลานเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญสำหรับโรงเรียนแล้ว หากแต่เมื่อจำนวนครูที่จะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญและเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคุณภาพการศึกษา และยังส่งผลต่อ "ความคุ้มค่า" ของงบประมาณในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก การมีนวัตกรรมการทางการศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถรักษาคุณภาพด้านการจัดการเรียนรู้ นวัตกรรมที่จะเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ของโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ต้องเป็นนวัตกรรมที่โรงเรียนมีส่วนในการตัดสินใจเลือกใช้ หรือ ต้องเป็นนวัตกรรมที่โรงเรียนและครูพัฒนาขึ้นเอง เพราะจะเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการในการแก้ปัญหาและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ดังคำกล่าวที่ว่า "เป็นนวัตกรรมที่ระเบิดจากภายใน" การบริหารงานของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจจะมีนวัตกรรมตามนโยบายลงไปให้โรงเรียนใช้ ซึ่งครูก็จะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานตามนโยบาย แต่ผลลัพธ์อาจไม่นำไปสู่ความยั่งยืน เป็นเพียงการทำไปตามกระบวนการ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง แต่หากนวัตกรรมทางการศึกษามาจากการเลือกของโรงเรียนเอง หรือว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้วว่า นวัตกรรมนั้นมีความเหมาะสมกับโรงเรียนของตนเอง ผู้อำนวยการและครูจะสามารถใช้นวัตกรรมนั้นได้อย่างยั่งยืนและมีความพร้อมที่จะบูรณาการให้มีคุณภาพอย่างที่ต้นสังกัดต้องการ
โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครูผู้สอน การใช้นวัตกรรมที่มุ่งเน้นการบูรณาการนำไปสู่การพัฒนาสมรรถะของผู้เรียนนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผลที่สำคัญนั่นคือจำนวนครูซึ่งไม่ครบชั้น และไม่ครบกลุ่มสาระวิชา จึงเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนไปสู่การจัดการเรียนรู้แบบ Free Content ที่ไม่มุ่งเน้นต่อรายวิชาใด ๆ แต่มุ่งเน้นการพัฒนาสรรถนะหลักของผู้เรียน ตามนโยบายของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่กำลังจะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ การสอนแบบบูรณาการโดยใช้นวัตกรรมจึงมีความเป็นไปได้ในโรงเรียนขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น โรงเรียนบ้านฮากฮาน สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา น่าน เขต 1 โรงเรียนขนาดเล็กที่มุ่งเน้นการสอนโดยใช้เครื่องมือสอนคิด (Thinking Tools) ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี กลไกที่สำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก คือ ผู้อำนวยการ จากงานวิจัยข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนขนาดเล็ก กรณีศึกษา: โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา พบว่า “ความเข้มแข็งทางวิชาการของผู้อำนวยการมีผลต่อการยอมรับและการใช้นวัตกรรมของครู ซึ่งมักส่งผลต่อระยะเวลาในการยอมรับนวัตกรรมของครู นอกจากนั้นแล้ว “ความสามารถในการหาผู้สนับสนุนหรือเครือข่ายหนุนเสริมโรงเรียนของผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของครูในโรงเรียน”
อีกปัจจัยที่ดูจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กคือ คณะกรรมการสถานศึกษา หลายโรงเรียนยังคงมีคณะกรรมการสถานศึกษาที่ไม่เข้าใจในบทบาทของตนเองว่าตามบทบาทของตนเองจะต้องทำอย่างไร คืออยู่ในโครงสร้างของโรงเรียนตามหน้าที่ แต่ไม่ได้มีบทบาทหรือมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเท่าไรนัก ทั้งที่กลไกคณะกรรมการสถานศึกษาควรเป็นจุดแข็งของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ที่ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กสามารถใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์พื้นที่ได้
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา นักวิจัยได้พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่ใช้นวัตกรรม สอดคล้องกับนโยบายการจัดการเรียนรู้ในยุค Next Normal ได้เป็นอย่างดี ในอนาคตที่เราอาจจะต้องอยู่กับโรคระบาด ที่เป็นโรคระบาดในท้องถิ่นไปแล้ว การที่เด็ก ๆ อยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ก็จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยจำนวนคนไม่เยอะ ควบคุมจำนวนเด็กที่อยู่ในโรงเรียนได้ ควบคุมปัจจัยการแพร่กระจายของโรคได้ จะเห็นได้ว่า นโยบายการจัดการเรียนการสอนในช่วงการระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 โรงเรียนขนาดเล็กแทบจะไม่เกิดผลกระทบเลย แต่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และไม่สามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับจำนวนเด็กที่จะต้องเข้ามาในโรงเรียนได้ ที่สำคัญ ถ้าปรับโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้หรือเป็นหน่วยการเรียนรู้ของชุมชนแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กก็จะสามารถจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ Next Normal ได้เป็นอย่างดี
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่หลายคนเคยคิดว่าเป็นวิกฤติที่ต้องยุบ-ควบรวม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในด้านของเศรษฐศาสตร์หรือความคุ้มค่าของงบประมาณในการบริหารจัดการนั้น เราอาจจะต้องหันกลับมามองถึงจุดแข็งของโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ตอบโจทย์คุณภาพทางการศึกษาที่ชุมชนต้องการ พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนได้อย่างสอดคล้องกับนโยบายรวมไปถึงการปรับตัวของการจัดการศึกษาให้เข้ากับยุค New และ Next Normal โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาที่สอดคล้องกับโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อความยั่งยืนในการจัดการศึกษาของชุมชนนั้น คำว่า “วิกฤติของโรงเรียนขนาดเล็ก” คงจะเปลี่ยนเป็น “โอกาสของโรงเรียนขนาดเล็ก” ที่จะพัฒนาการจัดการศึกษาของชุมชนและประเทศไทยอย่างยั่งยืนก็เป็นได้
โดย ดร.การญ์พิชชา กชกานน
อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาและคณิตศาสตร์
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
หัวหน้าโครงการวิจัย ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนขนาดเล็ก กรณีศึกษา: โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา
เกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (โครงการ ACCESS School)
โครงการระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2563-2566) ที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานโดยสหภาพยุโรป และบริหารโครงการโดย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และสมาคมไทบ้าน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยมุ่งส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษาในชุมชนของตนเอง ผ่านการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง
เกี่ยวกับสหภาพยุโรปในประเทศไทย (European Union in Thailand)
สหภาพยุโรป (อียู) เป็นการรวมตัวในลักษณะสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในทวีปยุโรป มีสมาชิกในปัจจุบันจำนวน 27 ประเทศ ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันสร้างภูมิภาคที่มีความมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก เปิดกว้างในการยอมรับซึ่งกันและกัน และเคารพเสรีภาพของประชาชน ในปี 2555 (ค.ศ. 2012) สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสมานฉันท์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในยุโรป
สหภาพยุโรปเป็นสมาคมทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นแหล่งทุนและเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่มูลค่าการให้ความช่วยเหลือรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั้งโลก
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บุรัสกร กิติพจน์นพรัตน์ (ผู้ช่วยฝ่ายสื่อสารโครงการ ACCESS School)
อีเมล: burassakorn.gitipotnopparat@actionaid.org
Facebook: https://www.facebook.com/access.school.project
“จงทำตัวเป็นนักเรียน ตราบใดที่ยังมีสิ่งให้เรียนรู้”: เรื่องราวแห่งการเปลี่ยนแปลงของครูณัฐวดี ทองขาว
ดิฉันบรรจุเข้ารับราชการในปี 2560 ที่โรงเรียนบ้านหนองขาม จ.นครปฐม ในฐานะครูคืนถิ่น เป็นครูเอกคณิตศาสตร์บรรจุใหม่ ไฟแรง มีความมั่นใจอยู่พอตัว ความคิดความอ่านและการสอนจะเป็นระบบแบบแผนตามขั้นตอนที่เคยเรียนมาทางมหาวิทยาลัย เมื่อทำการจัดการเรียนการสอนก็ต้องเป็นขั้นตอนที่ได้เรียนมา เด็กต้องเข้าใจในสิ่งที่เราสอน แต่พอลงสนามจริง ไม่เป็นอย่างที่คิด เกิดปัญหาและข้อสงสัยมากมายว่าทำไมเมื่อเราสอนแล้วเด็กคิดเอง ทำเองไม่ได้ แสดงวิธีทำไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ ทำไมเด็กจำสูตรคูณไม่ได้ ถึงได้ก็ไม่เข้าใจว่าได้มาอย่างไร ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง เราต้องค่อยบอกและป้อนข้อมูลให้ ซึ่งเราก็สอนตามสเต็ปและขั้นตอนทุกอย่าง
โรงเรียนบ้านหนองขาม นำโดย ผอ.ปิยนันท์ ทั่งปราณี เป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กที่นำนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เราได้รับการหนุนเสริมจากโครงการ Access School ซึ่งมุ่งส่งเสริมโรงเรียนขนาดเล็กให้มีระบบการศึกษาที่เสมอภาคและสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน ไปศึกษาและปฏิบัติจริงที่โรงเรียนต้นแบบลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ หลายครั้งจนครูเกิดความช่ำชอง
เราเริ่มจากการพัฒนาเด็กจากปัญญาภายใน โดยใช้กระบวนการจิตศึกษา ทำให้เด็กได้รับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง (รู้ตัว) และผู้อื่น การเห็นคุณค่าในตัวเอง คนอื่น และสิ่งต่างๆ ยอมรับในความแตกต่าง เคารพและให้เกียรติกัน จากนั้นพัฒนาปัญญาภายนอกของเด็กด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านหน่วยบูรณาการที่ใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ (Problem-Based Learning หรือ PBL) เน้นให้ผู้เรียนมองปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว และเน้นการลงมือปฏิบัติ ตั้งคำถามจากปัญหานั้นและค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง โดยครูจะไม่ตัดสินว่าสิ่งที่เด็กคิดนั้นถูกหรือผิด แต่เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้ อภิปราย ทดลอง และพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเอง และจะรู้เองว่าสิ่งที่คิดนั้นเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับปัญหาที่กำลังเผชิญหรือไม่
การจัดการเรียนการสอนเช่นนี้ ทำให้ความคิดและการสอนของเราเปลี่ยนไป เรียกว่า “3 เปลี่ยนใหญ่” เปลี่ยนแรก คือ ตัวเราเอง โดยเปลี่ยนการสอนและความคิด ไม่ยึดติดกับวิธีการหาคำตอบ เด็กจะหาคำตอบด้วยวิธีที่หลากหลาย วิธีใดก็ได้ เราเพียงขอให้ได้คำตอบที่เหมาะสมกับโจทย์นั้น ๆ และขอให้เด็กเข้าใจในเนื้อหา เราเปลี่ยนจากครูที่คอยป้อนคอยบอกมาเป็นครูโค้ชที่คอยชี้แนะแนวทาง โดยใช้คำถามนำหรือสร้างสถานการณ์ให้นักเรียนได้ค้นคว้า ลงมือปฏิบัติ เพื่อหาคำตอบ และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ไม่ตัดสินและชี้นำว่าเขาผิดหรือถูก จึงส่งผลให้เด็กมีความเข้าใจในบทเรียนอย่างกระจ่าง
เปลี่ยนที่สอง คือ ตัวนักเรียน เราเห็นได้ชัดเจนจากสีหน้าแห่งความสุขที่ออกมา เพราะช่วยกันคิดช่วยกันค้นคว้าหาคำตอบ ลงมือปฏิบัติเอง แก้ไขปัญหาด้วยกัน ไม่นั่งนิ่ง กลัวจะโดนเรียกตอบคำถาม คอยก้มหน้ากลัวครูสบตาเหมือนแต่ก่อน แต่เปลี่ยนเป็นกระตือรือต้นที่จะตอบคำถาม แย่งกันอธิบาย และมีการตัดพ้อว่าครูทำไมไม่เรียกผม ไม่เรียกหนูตอบสักที นักเรียนยังสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
เปลี่ยนที่สาม คือ ชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนอย่างมาก โดยมาเป็นปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้และคำแนะนำในหน่วยการเรียนรู้ PBL ต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องการทอผ้า การทอเสื่อ ไปจนถึงการทำอาหารชนิดต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าชุมชนเห็นภาพร่วมกันกับโรงเรียนถึงคุณภาพผู้เรียนที่เกิดขึ้นและการสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เมื่อโรงเรียนขอความร่วมมือ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะห่วงการงานของตนมากกว่า และปล่อยให้การเรียนของลูกหลานเป็นหน้าที่ครูอย่างเดียว
หนึ่งเปลี่ยนต่อไปที่อยากให้มีสำหรับตัวเอง คือ การไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องลับคมสมองตลอดเวลา โดยตอนนี้มีกิจกรรม PLC หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ใหม่ ๆ กับเพื่อนครู หรือไม่ก็กับนักเรียนอยู่เสมอ เพราะหลักการสอนหรือบางหัวข้อในบทเรียน ตัวเราเองก็ไม่ได้รู้ไปเสียหมด หากไม่เคยเรียนรู้มาก่อนก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน ดังคำกล่าวที่ว่า “จงทำตัวเป็นนักเรียน ตราบใดที่ยังมีสิ่งให้เรียนรู้ ซึ่งนั่นหมายถึงทั้งชีวิตของเรา”
ACCESS School ถอดบทเรียนประสบการณ์การสอนกับครูนวัตกรรุ่นใหม่ เพื่อการเรียนรู้อย่างมีความสุข
เดินทางร่วมกันมาครึ่งทางแล้ว สำหรับโครงการนักศึกษาฝึกสอนนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีความสุข ที่โครงการ ACCESS School จับมือกับคณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ฝึกฝนประสบการณ์พี่ ๆ นักศึกษา 22 คน ที่จะมาเป็นครูนวัตกรรุ่นใหม่ ร่วมพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก
เมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2565 โครงการฯ จึงได้จัดกิจกรรมสะท้อนกลางภาคเพื่อถอดบทเรียนและทบทวนเส้นทางร่วมกัน ณ ห้อง B104 คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นอกจากทบทวนแนวคิดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านจิตศึกษา ร่วมกับวิทยากร ครูพี่กุ้ง–อมรรัตน์ มาตรา จากโรงเรียนจินดาสินธวานนท์ จ.กาฬสินธุ์ ไฮไลท์ของงานคือกระบวนการถอดบทเรียน ซึ่งพี่ ๆ นักศึกษาร่วมสะท้อนประสบการณ์ในวง PLC ร่วมกับ ดร. ธีรดา นามให นายกสมาคมสมาคมไทบ้าน โดยแบ่งปันภาพสิ่งที่พบระหว่างการฝึกสอน ปัญหา อุปสรรค การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และบทเรียนสำหรับอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอการจัดกิจกรรมจิตศึกษา 15 นาที จากทีมฝึกสอนประจำโรงเรียนชุมชนหลักเหลี่ยมวิทยาคม โรงเรียนสงเปลือยวิทยายน และโรงเรียนบ้านแกวิทยาคม จ.กาฬสินธุ์ สั่งสมมาจากประสบการณ์ตรง และการประกวดไอเดียกิจกรรมเตรียมสภาวะจิตนักเรียน หรือเบรนยิม ซึ่งแต่ละทีมก็ได้ต่อยอดหลักการของจิตศึกษาและแสดงความคิดสร้างสรรค์กันอย่างเต็มที่
ขอขอบคุณ ผศ.ดร.อนุชา พิมศักดิ์ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา และอุทัย แก้วกล้า ประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ ผู้กล่าวเปิดกิจกรรมและมอบโอวาทและกำลังใจแก่พี่ ๆ นักศึกษา รวมถึง ผศ.ดร.อมร มะลาศรี คณบดี คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา, ดร.ปวีณา ขันธ์ศิลา และประภาพร หนองหารพิทักษ์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา, ดร.ปราโมทย์ พลราชม และว่าที่ ร.ต.เฉลิมชัย จันทรนิมะ รองประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์, ลิขิต โทจันทร์ ผอ.โรงเรียนชุมชนหลักเหลี่ยมวิทยาคม, จิราภรณ์ พอศรี ผอ.โรงเรียนคำยิ่งหมีมณีเวทย์, วันธะนา ปัญญพิมพ์ ผอ.โรงเรียนหนองคอนเตรียมราษฎร์บำรุง, จิตรลดา พลเยี่ยม ผอ.โรงเรียนหนองบัวใน, ขวัญใจ อุดมรัตน์ ผอ.โรงเรียนบ้านแกวิทยาคม และทักษิน เชื้อสูง ผอ.โรงเรียนจินดาสินธวานนท์ สำหรับทุกการหนุนเสริมเติมเต็ม เพื่อให้กิจกรรมในวันนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นและสำเร็จได้ด้วยดี