สิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร

ในฐานะขององค์กรที่ทำงานอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน เราเห็นถึงอุปสรรคที่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านสิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ

ที่ผ่านมา มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยทำงานร่วมกับหน่วยงานนานาชาติในโครงการพิเศษระยะสั้น และสำหรับปี 2561 นี้ไปจนถึงปี 2564 เราได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรอย่างใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

จากข้อมูลกรมพัฒนาที่ดินปี 2557 พบว่าคนไทยเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่เป็นเจ้าของที่ดินได้ ซึ่งหากพิจารณาการถือครองที่ดินตามสัดส่วนประชากรแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 60 มีที่ดินรวมกันเพียงร้อยละ 4.69 ต่อพื้นที่ทั้งหมด ขณะเดียวกัน พบพื้นที่ทิ้งร้างที่ไม่ทำประโยชน์รวมกันถึง 7.5 ล้านไร่

ปัจจุบัน นโยบายประเทศส่งผลให้สิทธิของชุมชนอ่อนแอลง ที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ และการให้สัมปทานเหมืองแร่ที่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลส่งผลให้ทิศทางของการพัฒนาไม่แน่นอนและไม่ต่อเนื่อง การผลักดันขององค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงมักหยุดชะงักลงเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่

โครงการส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร เป็นโครงการที่ดำเนินร่วมกันระหว่าง มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) และมูลนิธิชุมชนไท (มชท.) และมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปีตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2564 โครงการฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนไร้ที่ดินหรือประสบความยากจนทางที่ดิน และหน่วยงานรัฐบาล ในการแก้ปัญหาสิทธิในที่ดิน และช่วยชุมชนสร้างความมั่นคง และปกป้องวิถีการดำรงชีวิตด้วยแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ

โครงการดังกล่าวสนับสนุนการส่งเสริมศักยภาพขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ ได้แก่ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปการสังคมและการเมือง (คปสม.) และดำเนินงานอยู่ในพื้นที่ชุมชนไร้ที่ดินหรือประสบความยากจนทางที่ดิน 4 ประเภท ได้แก่ เกษตรกรและชาวประมงรายย่อย ชาวเล ชุมชนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง และคนไร้สัญชาติใน 16 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย

อ่านเรื่องราวล่าสุดจากโครงการส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร >


สิทธิสตรี

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน และสังคม แม้ว่าความเท่าเทียมทางเพศจะมีความก้าวหน้าขึ้นมากในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนเข้าศตวรรษที่ 21 เช่น รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ได้วางหลักการเรื่องความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม แต่ในภาพของความเป็นจริง ผู้หญิงยังไม่มีบทบาทเทียบเท่าผู้ชาย ทั้งในเชิงปฏิบัติ ค่านิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรม

ความรุนแรงในครอบครัวยังมีให้เห็น ซึ่งในสังคมไทยจะถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวที่คนนอกไม่ควรเข้าไป นอกจากนี้ ผู้หญิงยังไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ์ของตน จากรัฐบาล และองค์กรเอกชนเลย

มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย มุ่งสร้างความแข็งแรงให้กับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในเรื่องของความสามารถ ฝีมือ และความรู้ต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พวกเขามีความมั่นใจ กล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตตัวเองได้ อาศัยอยู่โดยปราศจากความหวาดกลัวเกี่ยวกับความรุนแรง และเข้าร่วมการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง เรายังสนับสนุนและร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายเมืองและหน่วยงานท้องถิ่น ในโครงการ “เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” (Safe Cities for Women) เพื่อรณรงค์และพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองให้ผู้หญิงและเด็กหญิงอาศัยอยู่อย่างปลอดภัย ไร้ความกลัวและกังวลในชุมชนของตน

ภายหลังปี 2557 ที่มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย เริ่มดำเนินงานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของภาคประชาสังคม ในการปัญหาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิชุมชนศรัทธาและเครือข่ายในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เพื่อพัฒนาศักยภาพและพลังทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน ผ่านการพัฒนาศักยภาพ การอบรมเรื่องสิทธิสตรี สิทธิในที่ดิน ทักษะความเป็นผู้นำ รวมถึงการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายใหญ่

อ่านเกี่ยวกับงานรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง >

การศึกษาและเยาวชน

สิทธิในการศึกษา

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการลดความยากจนและความไม่เท่าเทียมในประเทศไทย รัฐธรรมนูญของประเทศไทยรับรองสิทธิเด็กให้เรียนฟรีในช่วง 12 ปีแรก อย่างไรก็ตาม คุณภาพของการศึกษาที่ไม่สม่ำเสมอ และความเท่าเทียมด้านสิทธิในการศึกษายังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

ในปี 2556 รัฐมีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพของการศึกษาโดยการปิดและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนน้อยว่า 60 คน โดยที่โรงเรียนอื่นๆ จะได้มีทรัพยากรมากขึ้น อาทิ งบประมาณต่อนักเรียนหรือคุณครูหนึ่งคน ทว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อชุมชนห่างไกลหรือชุมชนชายขอบ จึงเป็นเหตุให้เยาวชนกว่า 200,000 คน และครอบครัวได้รับผลกระทบ จำนวนนักเรียนที่ลาออกจากโรงเรียนกลางคันเพิ่มสูงขึ้น โดยสาเหตุเป็นเพราะค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และความกังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากนักเรียนจากโรงเรียนที่ถูกยุบ-ควบรวม ต้องเดินทางไปยังโรงเรียนใหม่ที่อยู่นอกชุมชนหรือไกลจากชุมชนของตน

ปัจจุบัน นโยบายยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กยังเป็นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ และด้วยความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการศึกษาที่คงยังมีอยู่ โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกปิด หากปัญหานี้ไม่ได้รับการเร่งแก้ไข

ไม่ว่าโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยเชื่อว่าโรงเรียนคือหัวใจของชุมชน เราทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก โดยการเสริมสร้างความรู้ความสามารถของครูและการจัดการการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ นำบริบทและนวัตกรรมการศึกษาต่างๆ เข้ามาปรับใช้ในหลักสูตร เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายโรงเรียนในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ไปจนถึงประเทศ เพื่อเป็นพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

เรายังดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรและผู้มีอำนาจตัดสินใจท้องถิ่น เชื่อมโยงกลุ่มการศึกษาต่างๆ และรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิในการศึกษาที่มีคุณภาพและไม่กีดกันใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไป และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย และเฝ้าติดตามการทำงานของรัฐเพื่อการกระจายอำนาจและทรัพยากรที่แท้จริงในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษา

การส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Active Civil Society for Quality Education of Small Schools หรือ ACCESS School) คือ โครงการระยะเวลา 4 ปี (2563-2566) ที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานโดยสหภาพยุโรป และบริหารโครงการโดย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และสมาคมไทบ้าน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยมุ่งส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษาในชุมชนของตนเอง ผ่านการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง

อ่านต่อ >

การมีส่วนร่วมของเยาวชน

เยาวชนคือตัวแทนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ตลอดช่วยประวัติศาสตร์ทางการเมืองและวัฒนธรรมของไทย พวกเขาเป็นผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ความมุ่งมั่นนี้ต่อเนื่องมาถึงประเด็นปัญหาสังคม และการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ซึ่งจะแสดงออกผ่านการรณรงค์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมด้วยตนเอง หรือผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ

ด้วยความเชื่อในพลังของเยาวชน มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ได้เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานรณรงค์ต่างๆ ที่มุ่งสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น เยาวชนคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ระดับนักศึกษามหาวิทยาลัย ไปจนถึงวัยเริ่มทำงาน จะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ Activista มีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน สิทธิในการศึกษา สิทธิสตรี สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงปัญหาโลกร้อนและความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เราสนับสนุนให้ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่กลุ่มนี้ปลุกพลังนักรณรงค์และนักพัฒนาในตนเอง และมีส่วนร่วมกับงานของมูลนิธิแอ็คชั่นเอ็ด ประเทศไทย ในระดับชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศ

อ่านเรื่องราวล่าสุดจากโครงการการศึกษาและเยาวชน >


แอ็คชั่นเอด ประเทศไทยเตรียมพร้อมรับมืออนาคตกับทริปสองวันในนครปฐม

ในวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2018 แอ็คชั่นเอด ประเทศไทยได้เดินทางไปยังจังหวัดนครปฐมกันครบทีมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทีมงานได้สานสัมพันธ์ใหม่ กระชับไมตรีเดิม ส่งเสริมพลังและค่านิยมสำคัญขององค์กร รวมไปถึงเรียนรู้สิ่งดีๆ จากผู้นำองค์การประจำภูมิภาคเอเชียและสามคณะกรรมการมูลนิธิแอ็คชั่นเอดผ่านกิจกรรมการอภิปรายและการเสวนาที่น่าสนใจ

สร้างทีมเวิร์ค

ก่อนถึงที่หมายและลงพื้นที่ทำงานกันอย่างเต็มที่ แอ็คชั่นเอด ประเทศไทยได้เดินทางไปยังตลาดน้ำดอนหวายและพระราชวังสนามจันทร์ สองสถานที่สำคัญประจำจังหวัดนครปฐมสำหรับกิจกรรมสร้างทีม

เปิดบ้านเรียนรู้
เมื่อเดินทางมาถึงบ้านพักและแหล่งเรียนรู้ของชาวแอ็คชั่นเอดไปอีกตลอดสองวัน ผู้อำนวยการแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการและขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมการเดินทางกันอย่างครบทีม หัวหน้าองค์การแอ็คชั่นเอดประจำภูมิภาคเอเชีย และหนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยร่วมกล่าวขอบคุณที่ได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

ละลายพฤติกรรม
ผู้จัดการฝ่ายระดมทุนและสื่อสารองค์กรรับหน้าที่นำกิจกรรมละลายพฤติกรรมในช่วงบ่าย

ความเป็นมาของแอคชั่นเอดประเทศไทย
ในช่วงต่อมา ชาวแอ็คชั่นเอดช่วยกันระดมสมองและระลึกความหลังเพื่อสร้างเส้นเวลาความเป็นมาของแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และประวัติศาสตร์ด้านสังคมและการเมืองไทยตั้งแต่ปี 1972 (ปีที่แอ็คชั่นเอดก่อตั้งขึ้นในสหราชอาณาจักร) มาจนถึงปี 2018 กิจกรรมนี้ทำให้ทีมงานรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ในครอบครัวแอ็คชั่นเอดเป็นอย่างมาก

แอ็คชั่นเอด ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสมทบของสหพันธ์แอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนลในปี 2011

ยุทธศาสตร์และค่านิยมสำคัญ
ในกิจกรรมต่อมา ชาวแอคชั่นเอดได้ร่วมนำเสนอและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับค่านิยมสำคัญของแอ็คชั่นเอดทั้งในรูปแบบของการแสดงละครและการอภิปราย โดยค่านิยมที่เปรียบเสมือนหัวใจของเราขณะปฏิบัติงานมีทั้งหมดเจ็ดข้อ ได้แก่ 1. ความเคารพซึ่งกัน 2. ความเสมอภาคและความยุติธรรม 3. ความซื่อตรง 4. ความเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่มคนยากจนและผู้ที่ถูกมองข้าม 5. ความเป็นอิสระจากความเกี่ยวเนื่่องและการผูกมัดทางการเมือง ศาสนา และผลประโยชน์ 6. ความกล้าทำในสิ่งที่เชื่อมั่น และ 7. ความนอบน้อม

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องอำนาจและอิทธิพล และความแตกต่างระหว่างความเท่าเทียมและความเสมอภาคนั้นเป็นอีกสองประเด็นที่ได้รับความสนใจและเน้นย้ำเป็นพิเศษโดยผู้อำนวยการแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และหัวหน้าองค์การแอคชั่นเอดประจำภูมิภาคเอเชีย ทั้งสองท่านรับช่วงต่อโดยการนำเสนอบทนำแผนยุทธศาสตร์ของแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล และการประยุกต์เข้ากับยุทธศาสตร์ของทีมประเทศไทย

กิจกรรมอภิปราย CSP หรือรายงานยุทธศาสตร์ประเทศไทย

ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย ร่วมกับผู้จัดการฝ่ายการเงิน นำเสนอรายงานยุทธศาสตร์ประเทศไทยประจำปี 2018-2022 ผ่านกิจกรรม ชาวแอ็คชั่นเอดถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มเพื่อระดมความคิดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบท โครงการหลัก และการปรับเปลี่ยนองค์กรในยุทธศาสตร์ของแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย อนึ่ง ประธานกรรมการ และกรรมการและเลขานุการมูลนิธิกล่าวเน้นถึงความสำคัญของการทำแคมเปญเพื่อสร้างความเป็นที่รู้จักของแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยในประเทศและในหมู่สมาชิกสหพันธ์แอ็ดชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนลจากทั่วโลก รวมถึงเพื่อรับรองการปฏิบัติงานอย่างมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบขององค์กรในด้านการรับบริจาค

ข่าวสารและวิสัยทัศน์จากคณะกรรมการมูลนิธิ
คณะกรรมการมูลนิธิกล่าวถึงความเป็นมาและงานต่างๆ ของแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยในหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่เล่าเกี่ยวกับการประชุมของสหพันธ์แอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิได้ยกประเด็นเกี่ยวกับการสร้างวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนขององค์กรและความสำคัญของธรรมาภิบาลในการทำงานระดับประเทศและนานาชาติ ประธานกรรมการเสริมประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนรากหญ้า หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานร่วมโครงการ และการทำงานร่วมกันของทุกส่วน

“แอ็คชั่นเอด ประเทศไทยคือองค์กรพัฒนาที่ดำเนินงานอยู่บนพื้นฐานของสิทธิ” - กรรมการและเลขานุการมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย

เยี่ยมเยียนภาคสนาม
บ่ายวันนั้น แอ็คชั่นเอด ประเทศไทยได้เข้าพบสมาชิกเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลาในพื้นที่ภาคกลาง ณ โรงเรียนวัดลาดหญ้าไทร เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ (จิตศึกษา PBL และ PLC) และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักเรียน คุณครู และสมาชิกเครือข่าย

ห้องเรียนบูรณาการ โรงเรียนวัดลาดหญ้าไทร

บทสรุป
หลังจากจบกิจกรรมทั้งสองวัน แอ็คชั่นเอดพร้อมยิ่งขึ้นอีกที่จะเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยต่อไป

แอ็คชั่นเอด ประเทศไทยพร้อมสมาชิกเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลาในพื้นที่ภาคกลาง

ขับเคลื่อนโรงเรียนแกนนำเพื่อพัฒนาผู้เรียนศตวรรษที่ 21

ส่วนหนึ่งจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ แกนนำโรงเรียนในการใช้เครื่องมือสอนคิด (Thinking Tools) โดย คณะวิทยากร ดร.ศราวุธ สุตะวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอบจ. เชียงราย และคณะครู ระหว่าง 17-19 กรกฎาคม 2561 ที่ห้องประชุม สพป.น่าน เขต 1

การอบรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กจ.น่าน และ สพป.น่านเขต1 ร่วมกับแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยในการขับเคลื่อนให้เกิดโรงเรียนแกนนำการสอนคิด เพื่อพัฒนาผู้เรียนศตวรรษที่ 21 รวมผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 143 คน จาก 16 โรงเรียน ในจังหวัดน่าน

กระบวนการต่อไปคือการหนุนเสริมให้เกิดการนำไปใช้ เปลี่ยนแปลงทั้งระบบโดยเริ่มจากห้องเรียน ซึ่งมีเสียงสะท้อนมาแล้วจากโรงเรียนแกนนำที่ปรับใช้ว่าเยาวชนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ สนใจการเรียนรู้ ห้องเรียนปรับเปลี่ยนบรรยากาศ และที่สำคัญส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการที่ครูไม่จำเป็นต้องสอนแบบติวอีกต่อไป ครูไม่ต้องกังวลการประเมินการสอนอีกต่อไป เพราะผลลัพธ์อยู่ที่ผลงานและที่พัฒนาการของเด็ก





โดย พัชกร พัทธวิภาส
เจ้าหน้าที่โครงการเยาวชนและการศึกษา


ActionAid ActionRun ทำไม? เมื่อไหร่? ที่ไหน?

4.6 กิโลเมตร / 13.2 กิโลเมตร
ระยะทางเหล่านี้ แน่นอน มันไม่ใช่ระยะทางสำหรับวิ่งมาราธอน ไม่ว่ารุ่นไหน

แต่มันคือระยะทางจริง ที่น้องๆ ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบ ต้องเดินไกลขึ้น เพื่อไปและกลับที่เรียนใหม่

ระยะทางเหล่านี้ นอกจากจะทำให้พวกเขาห่างไกลจากโรงเรียนมากขึ้นแล้ว ยังทำให้พวกเขาเข้าใกล้ความยากจน ความไม่มีอนาคตและความไร้จริยธรรมมากขึ้นด้วย

ActionAid จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมกันวิ่งผ่านระยะทางเหล่านี้ เพื่อรักษาโรงเรียนของพวกเขาด้วยกันในงาน

ActionAid Action Run 2017
วิ่งด้วยกัน Run เพื่อโรงเรียนเล็ก

สวนหลวง ร. 9
4.6 และ 13.2 กม.
30 กรกฎาคม 2560
ปล่อยตัว 6:00 น.

(5:00 น. ประตูเปิด - ประตูดาวเรือง)

สมัครได้ที่: www.ActionRunThailand.com

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: www.facebook.com/actionaidactionrun2017

ติดต่อฝ่ายระดมทุน โทร. 02 279 6601 ถึง 2