“สิ่งที่สำคัญคือเรามีความสุข”: พี่ ป.6 ย้อนมองประสบการณ์ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ใช้นวัตกรรม
การจัดการศึกษาแบบองค์รวมในรูปแบบ "โมเดลโรงเรียนขนาดเล็ก" ของโครงการ ACCESS School นั้นนำนวัตกรรม Active Learning ที่จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมาปรับใช้ในหลักสูตร ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพของการเรียนการสอนท่ามกลางข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและบุคลากร ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยต้องประสบ
ที่โรงเรียนวัดโคกทอง โรงเรียนขนาดเล็กในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning หรือ PBL) และจิตศึกษาถูกนำมาใช้ในห้องเรียน แทนที่ตารางสอนของโรงเรียนจะมี 8 กลุ่มสาระวิชาอย่างในโรงเรียนรัฐทั่วไป นักเรียนวัดโคกทองจะได้เรียน 3 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ตามขนบ ส่วนวิชาอื่น ๆ อย่างวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพลศึกษา และศิลปะ จะถูกนำมาจัดการเรียนรู้เป็น "หน่วย PBL" ที่ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เน้นการลงมือปฏิบัติของผู้เรียน และนำความรู้แต่ละสาขาวิชามาเชื่อมโยงกัน
หาก PBL เปรียบเสมือนมันสมองของหลักสูตรนี้ จิตศึกษาก็เป็นดั่งหัวใจ หรือ "จิต" ทุกวันก่อนเริ่มการเรียนรู้ในภาคเช้าและบ่าย นักเรียนโรงเรียนวัดโคกทองแต่ละระดับชั้นจะนั่งล้อมวงร่วมกับคุณครูในห้องของตัวเอง ครูจะเป็นผู้นำกิจกรรมจิตศึกษารูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่เพียงทำให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนรู้ แต่ยังเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และความฉลาดทางจิตวิญญาณ (SQ) อีกด้วย กิจกรรมที่ใช้ในช่วงจิตศึกษานั้นได้แก่ การฝึกสมาธิ การยืดเหยียดโยคะ เกมเบรนยิม การเล่าเรื่อง การถกถามและสนทนากลุ่ม เมื่อเรื่องเล่าหรือข่าวถูกใช้เป็นตัวชงในกิจกรรม ครูมักจะขอให้นักเรียนเขียนความรู้สึกหรือความคิดเห็นลงในสมุดจิตศึกษาประจำตัวหลังจากที่ได้ฟังเรื่อง หากใครอยากอาสาเล่าสิ่งที่เขียนให้เพื่อน ๆ ฟัง ครูก็จะเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนและขอบคุณในความกล้าของนักเรียน

ในวันที่เราได้พูดคุยกับพี่นักเรียนชั้น ป.6 หวานและติ๊ก พวกเธอเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ในฐานะพี่ใหญ่ของโรงเรียนวัดโคกทอง เราขอให้พวกเธอเล่าถึงประสบการณ์ในโรงเรียนที่ "ทั้งเหมือนและแตกต่างจากที่อื่น" ที่ได้ร่ำเรียนมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมาแห่งนี้ หวานบอกว่า "วิธีการสอนของที่นี่อาจจะแตกต่าง แต่ก็มีความรู้เท่าเทียมกับโรงเรียนอื่น นักเรียนเข้าใจในสิ่งที่เรียนจริง ๆ หนูคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือการที่เรามีความสุข" ด้านติ๊กเสริมว่า "แทนที่จะเปรียบเทียบโรงเรียนนี้กับโรงเรียนอื่น หรือเปรียบเทียบขนาดของโรงเรียน เราควรดูสิ่งที่โรงเรียนทำ ว่ามีประโยชน์ต่อครู นักเรียน พ่อแม่ หรือเปล่า ควรคิดว่าโรงเรียนเราเหมาะแล้วที่จะมีเด็กมาเรียน โรงเรียนเราไม่ต้องมีชื่อเสียงมาก ขอแค่เด็กมีความรู้ติดตัวกลับไปบ้าน ไปใช้ในอนาคตก็พอแล้ว"
แต่หากจะทำให้เห็นภาพว่าแนวทางการสอนของโรงเรียนส่งผลต่อหวานและติ๊กอย่างไร การเปรียบเทียบคงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ หวานเล่าว่าก่อนที่จะย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัดโคกทองตอน ป.4 เธอเป็นคนขี้อายมาก แต่พอได้ทำกิจกรรมจิตศึกษา อยู่ในวงสนทนาที่ครูรับฟัง ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด หรือการตัดสินกัน หวานรู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะแสดงความคิดเห็นและพูดต่อหน้าผู้คน "หนูเคยไม่กล้าถามคำถามเลย แต่ตอนนี้หนูรู้แล้วว่าถ้าไม่ถาม ก็จะไม่เข้าใจสิ่งที่เรียนและพัฒนาตัวเองได้"
ติ๊กเล่าว่าจิตศึกษาสอนให้เธอมองเห็นมากกว่าตนเองและเข้าใจผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของเธอ "อย่างเวลาทำตัวกับน้องหรือการทำงานบ้าน พอหนูได้มาเรียนจิตศึกษา หนูก็ได้รู้ว่าถ้าทำเรื่องนี้ได้ดีก็น่าจะแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ หนูรู้ว่าพวกท่านอาจจะไม่อยู่กับเราตลอดไป ก็ควรช่วยท่านและฝึกฝนความรับผิดชอบของตัวเอง"

สำหรับ PBL หรือการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ติ๊กบอกว่า แต่ก่อนเธอไม่ค่อยชอบทำงานในคาบเรียน หรือเวลามีการบ้านก็จะ "ดองไว้" แต่เมื่อได้ลงมือปฏิบัติจริงกับหน่วยเนื้อหาที่หลากหลาย เธอตัดสินใจลองทำดูเพราะอาจจะทำได้ดีก็ได้ ผลที่ออกมาคือทั้งทำได้ดีและสนุก "หนูชอบหน่วยที่เกี่ยวหลักการทางวิทยาศาสตร์และอวกาศเป็นพิเศษ เรียนกับ PBL ทำให้ได้ตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ และได้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง"
"ถ้าเป็นไปได้หนูอยากเรียนแบบนี้ไปจนจบ ม.6 เลย" ติ๊กพูดต่อ "แต่ถ้าโรงเรียนมัธยมที่ไปเรียนต่อไม่สอนแบบนี้ หนูก็จะปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ทบทวนว่าจิตศึกษาที่เคยเรียนมามีประโยชน์กับเราหรือเปล่า ถ้ามี เราก็ต้องดูว่ามันจะช่วยเรายังไงได้บ้าง"
สุภัทรา สุทธิ: จากครูแกนนำสู่ผู้นำสถานศึกษา ที่สร้างพลังร่วมและเพาะเมล็ดแห่งความเท่าเทียม
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมความเป็นผู้นำของสตรี เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและทำให้การศึกษาไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งยังเป็น 2 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก 17 เป้าที่ไม่อาจแยกส่วนกันพัฒนาได้
เนื่องในวันสตรีสากลและการเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์แห่งความเท่าเทียมทางเพศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราคุยกับครูแวว–สุภัทรา สุทธิ แห่งโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ อ.ภูเพียง จ.น่าน ถึงประสบการณ์การเป็นครูแกนนำโครงการ Access School บทบาทผู้นำผู้หญิง และการปรับใช้สิ่งที่ได้รับจากการพัฒนาศักยภาพภายใต้โครงการฯ ในสนามของการทำงานจริง
ก่อนย้ายมาที่โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ ครูแววสอนที่โรงเรียนแม่ขะนิงในอำเภอเวียงสา เนื่องจากโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือเป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนสอนคิด ของสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป. น่าน เขต 1 ครูแววจึงได้เริ่มรู้จักเครื่องมือสอนคิดและเริ่มต้นเส้นทางการเป็นครูแกนนำเรื่องนวัตกรรม เธอได้เข้าอบรมการจัดการเรียนการสอนแบบสอนคิดที่โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และเข้ามามีบทบาทในการร่วมวางแผนและดำเนินการกิจกรรมของสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป. น่าน เขต 1 และได้รับการสนับสนุนจากผู้อำนวยการโรงเรียนให้เป็นครูแกนนำสอนคิด “ตอนแรกก็หวั่น ๆ เพราะไม่ค่อยเข้าใจ” ครูแววกล่าว “รู้สึกว่าปรับใช้เครื่องมือสอนคิดได้ไม่หมด แต่ต่อมามีโอกาสได้ไปอบรมอีก เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มขึ้น และค่อย ๆ ปรับ ค่อยแต่งแนวทางการสอนของโรงเรียนไปทีละน้อย จนต่อมาเราก็เป็นโรงเรียนสอนคิดได้ในบริบทของเรา”
จากครูแกนนำ สู่ผู้นำสถานศึกษา
จากครูที่ได้รับการหนุนเสริมเป็นแกนนำของโรงเรียน จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของโรงเรียนทำให้เธอได้ก้าวขึ้นสู่บทบาทผู้นำอีกขั้น คือช่วงต้นปี 2565 ที่อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือลาออก และเธอได้รับมอบหมายโดยเขตพื้นที่การศึกษาให้รักษาการผู้อำนวยการ “แรกเริ่มก็เกิดความหนักใจ เพราะงานหลาย ๆ อย่าง ตำแหน่งผอ.เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เรา เรามีหน้าที่สอน แต่โชคดีที่เราสามารถคุยกับครูที่โรงเรียนและชุมชนว่าทิศทางจะเป็นยังไง จะยุบรวมตามแผนที่เขตกำหนดไหม หรือจะไปต่อ ทั้งครู แม้กระทั่งนักการภารโรงก็บอกว่า เรายังมีกันอยู่ เรายังอยู่กันต่อไปได้”
“ถ้าครูแววสอนคณิตศาสตร์ในคาบไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้าช่วงนี้ครูแววไม่อยู่โรงเรียนจะมอบหมายงานกันยังไง สิ่งเหล่านี้เราต้องคุยกัน เราใช้วิธีพูดคุยเสมอ พอมีประเด็นเรื่องงบหรือการจัดการเรียนการสอน พวกเราก็ช่วยกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนของเด็ก เป็นสิ่งที่ต้องคุยกันรายวัน เราเจอปัญหาปุ๊บก็รีบแก้ในแต่ละวัน”
ครูแววกล่าวว่า หลังจากที่เธอและครูโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือได้ “รับอาวุธ” ด้านการจัดการเรียนการสอนจากการมีส่วนร่วมกับโครงการ Access School อาทิ เครื่องมือสอนคิด ทักษะสมองของเด็ก (Executive Functions) หรือนวัตกรรมที่ได้เรียนรู้จากเครือข่ายโรงเรียนข้ามพื้นที่อย่าง จิตศึกษา โรงเรียนจะพัฒนาและเติมเต็มระบบให้พร้อมกับภาคเรียนหน้า ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมและฟังเสียงของครูทั้งเก่าและใหม่ “เราจะสร้างวิถีใหม่ ซึ่งจะผ่านการคิดร่วมกันกับทุกคน” ครูแววกล่าว
เมื่อพูดถึงการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ อีกหนึ่งกิจกรรมที่ครูแววได้เข้าร่วมคือการอบรมเรื่องอำนาจและความเป็นธรรมทางเพศสำหรับครูแกนนำ (School Champion) ของโครงการฯ ครูแววเล่าว่าได้นำสิ่งที่ได้จากการอบรมไปใช้ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน และโดยเฉพาะในจังหวะชีวิตที่ได้รับหน้าที่ผู้นำสถานศึกษา ความรู้และมุมมองใหม่ ๆ จากกระบวนกรผู้เชี่ยวชาญอย่าง อวยพร เขื่อนแก้ว และนัยนา ประไพวงศ์ ช่วยให้เธอเป็นผู้นำที่ดีและทำงานอย่างมีความสุข
“เรื่อง deep listening (การฟังอย่างลึกซึ้งด้วยใจและปราศจากการตัดสิน) จากการอบรม ครูแววเอามาปรับใช้ตั้งแต่ระดับครอบครัว พอเรารู้ว่าการเป็นผู้ฟังที่ดีเป็นยังไง ให้อะไร เราก็เริ่มฟังและใส่ใจกันมากขึ้น ส่วนกับเพื่อนร่วมงานหรือครูรุ่นน้อง ก่อนหน้านี้เราเดินมาด้วยกัน ปรึกษากัน แต่เราอาจจะไม่ได้ฟังความคิดเห็นเขาในบางครั้งเพราะประสบการณ์ที่ต่างกัน แต่หลังอบรม พอมีประชุมหรือพูดคุยกันเราจะฟังน้อง ๆ มากขึ้น คนรุ่นใหม่เขาคิดยังไง แล้วรุ่นเราคิดยังไง เพื่อที่เราจะปรับตัวเข้าหากันเวลาทำงาน เข้าใจกันและเรียนรู้จากกัน มีหลายเรื่องที่เราสอนเขา เขาสอนเรา น้องบางคนอยู่ในชุมชนมานานกว่า ฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องบริบทชุมชนเราก็ต้องฟังเขา”

เมื่อมองบทบาทหน้าที่ของครูแววตอนนี้ การเป็นผู้ฟังที่ดีสำคัญอย่างไร?
“บางครั้งเราฟังแบบไม่ตั้งใจ ไม่ใคร่ครวญ การที่เราจะช่วยเหลือใครหรือทำงานให้สำเร็จ การเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นสำคัญ ถ้าเราไม่ฟังแล้วออกความเห็นในสิ่งที่เราไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เราอาจจะไม่สามารถคุยกันด้วยเหตุผลและข้อมูล แล้วไม่สามารถเอามาพัฒนางานได้ ถ้าเราเอาแต่จะพูดความคิดของตัวเอง หรือทำงานแบบสั่งการ ‘พี่ว่ามันควรจะเป็นแบบนั้น’ มันจะเป็นการใช้อำนาจผู้เหนือผู้อื่น และการทำงานจะมีปัญหา เพราะเราคนเดียวอาจจะคิดไม่ครบทุกแง่มุม”
“ตัวครูแววเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ตั้งแต่มาทำหน้าที่รักษาการและเป็นผู้นำคนอื่น เราต้องเป็นคนที่ฟังคนอื่นมากขึ้น การแสดงความเห็นต่าง ๆ เริ่มน้อยลง หรือไม่พูดออกมาโดยที่ไม่คิดไตร่ตรองก่อน”
“อย่างงานศิลปหัตถกรรมจังหวัดที่โรงเรียนของเราเป็นที่พักสำหรับผู้เข้าร่วม โรงเรียนกลับเข้าสู่สภาพเดิมได้เร็วมากหลังกิจกรรม เพราะเราวางแผนอย่างมีส่วนร่วมมาตลอด ถ้าไม่ได้ทำแบบนั้น ครูแววว่าหลังงาน 2 วันเรายังต้องเก็บสถานที่กันอยู่ ยังไม่ได้ทำการเรียนการสอน” ครูแววเล่า “พอผลสำเร็จของงานนี้ออกมา เรารู้สึกว่าเราได้ภูมิใจร่วมกัน ไม่ต้องพูดว่าความคิดไหนเป็นของใคร”
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่สำคัญไม่แพ้กันคือความสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน การฟังอย่างลึกซึ้งและใคร่ครวญคือจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างพลังและศักยภาพในตัวเด็ก “ยิ่งเป็นเด็กที่ถูกรังแก เวลาที่เขาพูดอะไรเกี่ยวกับครอบครัว ตัวเอง หรือเพื่อน เรารับฟังเขามากขึ้น ใส่ใจเขามากขึ้น” ครูแววกล่าว “เด็กจะรู้สึกว่าครูก็ใส่ใจเรานะ ครูเองก็รู้สึกเบาขึ้นและมุมมองที่มองเด็กก็เปลี่ยนไป ไม่ได้ตัดบทหรือเบรกความคิดหรือเบรกสิ่งที่เขาอยากพูด สิ่งที่เขาพูดนั้นมีที่มามีเหตุผลไม่แพ้กับที่ผู้ใหญ่พูด”
Power sharing
รูปแบบการสอนและการวัดผลแบบเดิม ๆ ของการศึกษาไทย ส่งผลให้เด็กถูกแบ่งออกเป็น “เด็กเก่ง” กับ “เด็กหลังห้อง” ครูแววมองว่าแนวทางเดิมของเธอเป็นการผลิตซ้ำระบบนั้น “เดิมเราอาจจะมองว่าคนนี้เก่ง ปานกลาง หรืออ่อน เราให้เด็กที่อ่อนทำแบบฝึกหัดที่ต่างจากคนอื่น” เธอเล่า “แต่ตอนหลังเรามองว่า ต้อง empower ให้เขาทำไปพร้อม ๆ กัน ให้เขามีความรู้สึกมีส่วนร่วมและทำสำเร็จได้เหมือนกัน ไม่มีความรู้สึกแปลกแยก เขาจะทำได้มากข้อเท่าเพื่อนหรือไม่ก็ลองก่อน แล้ววิชาของครูแววคือคณิตศาสตร์ ซึ่งความเข้าใจของคนเรามันไม่เหมือนกัน ถ้าเขาไม่เข้าใจ เราก็ต้องหาวิธีทำให้เขาเข้าใจ เมื่อมุมมองตรงนี้เปลี่ยน เราเลยรู้สึกว่าแคร์ความรู้สึกเด็กมากขึ้นไปอีก เข้าใจความรู้สึกเขามากขึ้น”
หลัก empowerment (การเสริมพลัง) และ power sharing (การสร้างอำนาจร่วม) เป็นสิ่งที่ครูแววนำมาปรับใช้ในองค์กรเช่นกัน เพราะโรงเรียนไม่มีตำแหน่งผู้บริหาร ทุกคนจึงต้องทำงานไปด้วยกันอย่างเพื่อนร่วมทาง ไม่มีใครเป็นหัวของใคร และมีชุมชนเป็นที่ปรึกษา
“เริ่มจากการช่วยกันตัดสินใจและแบ่งหน้าที่ เราวางแผนล่วงหน้าสองวันให้รู้ว่าใครไปทำอะไร เวลาไหน อย่างวันนี้คุณครูคนหนึ่งไปอบรมช่วงบ่าย เราก็จะคุยสรุปกันว่าให้เขาสอนอนุบาลก่อน พอช่วงบ่ายนักเรียนหลับ ก็ไปอบรมและเอางานที่โรงเรียนต้องส่งเขตพื้นที่ฯ ที่ติดไปด้วย เพราะมันไม่จำเป็นต้องเป็นผอ.คนเดียวที่เป็นคนไปส่งงาน”
“การแบ่งงานกันอย่างเชื่อมั่นทำให้เราเก่งขึ้นด้วย อย่างครูอนุบาลคนนั้น เดิมทีเป็นครูธุรการทำแต่เรื่องเอกสาร พอโรงเรียนเราขาดครู เขามาช่วยดูเด็กอนุบาลด้วยความเต็มใจ จนเดี๋ยวนี้เป็นหัวหน้าครูอนุบาลแล้ว เขาได้มาใช้ความสามารถที่มีและเรียนรู้เพิ่มจนทำได้”
จากจุดเริ่มต้นในระดับบุคคล วันนี้ โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือเป็นองค์กรที่มี power sharing สูง “ครูแววจะไม่มองว่าใครเป็นอัตราจ้าง ใครคือพนักงาน ครูวิกฤติหรือครูพี่เลี้ยง เราทำงานไปด้วยกัน โรงเรียนคือบ้านที่เราอยู่ด้วยกันนานมาก เกือบ 10 ชั่วโมงต่อวัน นี่คือที่มาของความสุขในการทำงาน คือบางวันก็มีเรื่องเครียด แต่ไม่ได้มาจากความขัดแย้งกันนะ เราเครียดกับเนื้องานและการวางแผนการทำงาน จะทำอะไรอย่างไร แต่พอเราไม่มีเรื่องตำแหน่งใครใหญ่ ใครตาม เป็นกรอบให้กัน เรามาทำงานไปด้วยกัน ช่วยกัน มันผ่านไปได้”
“เชื่อไหมว่า แรก ๆ ครูแววไม่กล้านั่งหัวโต๊ะเลย หวั่นใจว่าพอเราพูดอะไรไป เขาจะฟังเราไหม ให้เกียรติเราไหม หลังจากได้เป็นผู้ฟัง ได้แลกเปลี่ยนกัน ได้ความรู้เรื่องความเท่าเทียม อำนาจ หรือวิธีการทำงาน ณ วันนี้ครูแววรู้สึกมีความสุขกับการทำงาน และสบายใจขึ้น เราคุยกันในฐานะเพื่อนร่วมงาน อยู่เรือลำเดียวกันละ เราจะพาเรือลำนี้ไปด้วยกันยังไงมากกว่า พอเราทำงานแบบนี้เรารู้สึกไม่เหนื่อย ไม่เหนื่อยที่จะต้องมาคอยพะวงว่าเขาจะฟังเราไหม จะปฏิบัติกับเรายังไง ไม่เกร็งเรื่องนั้นเลย”
ครูแววเคยคิดไหมว่าถ้าโรงเรียนได้ผอ.ใหม่ จะเป็นอย่างไร?
"ครูแววเชื่อมั่นในเรื่องระบบนะ” เธอตอบ “ระบบสำคัญกว่าคน ถ้าเราสร้างระบบที่ดีอยู่ตรงนี้แล้ว เมื่อผู้นำคนอื่นเข้ามา เราก็เชื่อว่าเขาน่าจะเห็นและให้เกียรติเรา แต่ถ้าเขาคิดจะเปลี่ยน และเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เราก็พร้อมเปลี่ยน แต่ถ้าไปในทิศทางที่อาจมีปัญหา เราก็ต้องคุยกัน ให้ข้อมูลกัน เมื่อครูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในแง่นี้ ครูแววเชื่อว่าไม่มีปัญหาแน่นอน”
สู่การปลูกฝังความเท่าเทียม
ความเข้าใจผ่านการฟัง และความเข้าใจเรื่องอำนาจ ช่วยให้เราเห็นที่มาของความไม่เท่าเทียมและความรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่การรับมือ-ป้องกัน และแนวทางที่จะเลิกผลิตซ้ำอคติและความรุนแรง ในฐานะครูแกนนำโครงการ Access School ครูแววจะมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรความเป็นธรรมทางเพศ ที่จะถูกทดลองใช้ในโรงเรียนต้นแบบ เพื่อเป็นโมเดลสำหรับการขยายผลสู่โรงเรียนอื่น ๆ ส่งผลให้ห้องเรียน โรงเรียน ครอบครัว และชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทุกคน
“ครูแววมีเพื่อนที่มีความหลากหลายทางเพศเยอะ และอยู่กับเขาด้วยความเข้าใจมาโดยตลอด ที่โรงเรียนก็มีเด็กนักเรียนที่มีตัวตนหลากหลาย บางคนเรารับรู้ได้ตั้งแต่อนุบาล พอได้ไปอบรมมาก็เห็นโลกกว้างขึ้นและเข้าใจลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม ครูแววดีใจ เพราะสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ถ้าเราให้ความรู้เขา เขาจะได้รู้ว่ามีคนเข้าใจและยอมรับเขาอยู่”
“วิธีการของครูแววคือเริ่มที่คุณครูก่อน ถ่ายทอดให้เพื่อนครูฟัง เราจะไม่อธิบายให้เด็กเล็กเข้าใจหรอกว่าโลกนี้มีความหลากหลายอะไรบ้าง แต่เราจะคุยกับผู้ใหญ่ก่อน ครูเราจะไม่ว่าให้เขา ไม่ใช้คำตรีตราเด็ก เราไม่ถึงกับจัดเลคเชอร์ให้ครู แต่มีประเด็นอะไรขึ้นมาถึงจะค่อย ๆ แชร์ สถานการณ์จะสร้างพระเอกนางเอกขึ้นมาให้เราสามารถคุยกับเขาได้ในเวลานั้น ถ้าเวลานักเรียนเจอเพื่อนที่ว่าเขาด้วยคำต่าง ๆ ครูก็จะบอกว่าทุกคนจะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้มีความสุข เด็กเขาก็จะซอฟต์ลง อย่างกรณีของพี่ต้น (นามสมมติ) เขาเดินมาบอกครูว่าเพื่อน ‘เป็นกะเทย ชอบเอาผ้ามาคลุมแล้วทำเป็นกระโปรง’ ในท่าทางฟ้อง ครูแววก็จะบอกว่า ‘ต้น ไม่เป็นไรเลย นัท (นามสมมติ) เขามีความสุขไหมตอนที่เขาทำ’ เขาตอบว่า ‘มีความสุขครับ’ ‘เห็นไหมเขามีความสุข แล้วต้นควรจะไปว่าให้พี่นัทไหมลูก’ เขาก็คิดได้แล้วตอบเองว่า ‘ไม่ควรครับ’
‘ในขณะเดียวกัน ต้นชอบเล่นแบบที่ต้นเล่น ต้นมีความสุขไหม’
‘ครับ’
‘ถ้าต้นทำแบนนั้นแล้วมีความสุข ก็ไม่ควรไปว่าให้เขา’"
ครูแววเสริมว่าโรงเรียนจะยังไม่สอนเป็นเรื่องเพศเป็นเรื่องเป็นราว เพียงแต่ทำให้เด็ก ๆ รู้ว่า ไม่มีอะไรที่เขาเป็นแล้วจะแปลกแยก หรือด้อยกว่าใคร “ทุกคนมีคุณค่า ครูเองก็เหมือนกัน ครูแววคุยเรื่องการทาสีห้องน้ำ ต่อไปเราจะไม่ทาสีแบ่งแยกแล้วนะ หรือว่าแก้วน้ำสีชมพูต้องเป็นของผู้หญิง สีฟ้าของผู้ชาย จะสีอะไรก็ได้ ที่นอนเด็กอนุบาล เพศไหนนอนสีอะไรก็ได้ พอครูเขาได้ยินก็คิดได้ ‘เออจริงเนอะ’ เหมือนเราถูกปลูกฝังเรื่องบทบาทเพศโดยวัฒนธรรมมา ตอนนี้เราเลยต้องพยายามให้มันกลืนไปทีละน้อย ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเท่าเทียมกันทุกคน ครูแววก็เชื่อมั่นในสิ่งนี้และพยายามสอนเด็กให้เป็นอะไรก็ได้ เน้นให้เขาความสุข แม้โรงเรียนเราจะมีเด็กที่มาจากบ้านที่ลำบาก ไม่พร้อมเท่าเด็กที่ถูกส่งไปเรียนในเมือง แต่ตัวเราเป็นครู เราจะไม่ดูถูกเด็ก เราให้เขาเรียนที่โรงเรียนเราอย่างมีความสุข อ่านออกเขียนได้คิดได้ รู้เท่าทัน ใช้ชีวิตให้เป็น”
“พอเขากลับไปหาครอบครัว เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรได้ทั้งหมด แต่ในระหว่างที่เขาอยู่กับเราที่นี่ 6 ชั่วโมง เราจะพยายามหล่อหลอมให้ดีที่สุด เป็นบ้านหลังที่สองที่จะให้เขาตรงนี้ได้”
.
ในวันนี้โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือมีนักเรียน 37 คน โดยครูแววคาดว่าปีหน้าอาจจะมีเพิ่มประมาณ 2-3 คน ซึ่งยังไม่ครบจำนวนขั้นต่ำที่จะได้รับการจัดสรรผู้อำนวยการตามระเบียบของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (61 คน) และเมื่อการสอนแบบรวมกลุ่มโรงเรียนที่มีระยะทางอยู่ในพื้นที่ใกล้กันไม่ใช่ความต้องการของโรงเรียนและชุมชน บทบาทผู้นำสถานศึกษาของครูแววจึงต้องดำเนินต่อไป
ก่อนจบการพูดคุย เธอได้ตกผลึกประสบการณ์ในบทบาทต่าง ๆ ที่ทับซ้อนกันว่า
“เราเป็นทั้งผู้นำและครู เป็นผู้นำหญิงซึ่งในตัวตนของเราทุกคนมีทั้งความเป็นหญิง (feminine) และชาย (masculine) ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรมากน้อยแค่ไหน เรามีคุณค่าในตัวเอง ครูแววมองว่า เราอยู่จุดไหน เรามีหน้าที่อะไร เราควรทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อยู่ที่บ้านเราเป็นสมาชิกครอบครัว เราทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุด พอเรามาทำงานก็เช่นกัน เห็นคุณค่าของบทบาทนั้นและคุณค่าในตัวเราให้มากที่สุด เมื่อเราผิดพลาดก็อย่าดูถูกหรือทำร้ายตัวเอง และทำให้ตัวเองมีความสุข”
“ตอนนี้เราผ่านจุดเปลี่ยนของโรงเรียนมาหนึ่งปีแล้ว จริงที่ช่วงแรกเราปรับตัวกันพอสมควร แต่วันนี้ครูแววว่ามันเข้าที่แล้ว และไปต่อได้ เรายังพากันไปต่อได้หลายปี”
“จงทำตัวเป็นนักเรียน ตราบใดที่ยังมีสิ่งให้เรียนรู้”: เรื่องราวแห่งการเปลี่ยนแปลงของครูณัฐวดี ทองขาว
ดิฉันบรรจุเข้ารับราชการในปี 2560 ที่โรงเรียนบ้านหนองขาม จ.นครปฐม ในฐานะครูคืนถิ่น เป็นครูเอกคณิตศาสตร์บรรจุใหม่ ไฟแรง มีความมั่นใจอยู่พอตัว ความคิดความอ่านและการสอนจะเป็นระบบแบบแผนตามขั้นตอนที่เคยเรียนมาทางมหาวิทยาลัย เมื่อทำการจัดการเรียนการสอนก็ต้องเป็นขั้นตอนที่ได้เรียนมา เด็กต้องเข้าใจในสิ่งที่เราสอน แต่พอลงสนามจริง ไม่เป็นอย่างที่คิด เกิดปัญหาและข้อสงสัยมากมายว่าทำไมเมื่อเราสอนแล้วเด็กคิดเอง ทำเองไม่ได้ แสดงวิธีทำไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ ทำไมเด็กจำสูตรคูณไม่ได้ ถึงได้ก็ไม่เข้าใจว่าได้มาอย่างไร ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง เราต้องค่อยบอกและป้อนข้อมูลให้ ซึ่งเราก็สอนตามสเต็ปและขั้นตอนทุกอย่าง
โรงเรียนบ้านหนองขาม นำโดย ผอ.ปิยนันท์ ทั่งปราณี เป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กที่นำนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เราได้รับการหนุนเสริมจากโครงการ Access School ซึ่งมุ่งส่งเสริมโรงเรียนขนาดเล็กให้มีระบบการศึกษาที่เสมอภาคและสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน ไปศึกษาและปฏิบัติจริงที่โรงเรียนต้นแบบลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ หลายครั้งจนครูเกิดความช่ำชอง
เราเริ่มจากการพัฒนาเด็กจากปัญญาภายใน โดยใช้กระบวนการจิตศึกษา ทำให้เด็กได้รับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง (รู้ตัว) และผู้อื่น การเห็นคุณค่าในตัวเอง คนอื่น และสิ่งต่างๆ ยอมรับในความแตกต่าง เคารพและให้เกียรติกัน จากนั้นพัฒนาปัญญาภายนอกของเด็กด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านหน่วยบูรณาการที่ใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ (Problem-Based Learning หรือ PBL) เน้นให้ผู้เรียนมองปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว และเน้นการลงมือปฏิบัติ ตั้งคำถามจากปัญหานั้นและค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง โดยครูจะไม่ตัดสินว่าสิ่งที่เด็กคิดนั้นถูกหรือผิด แต่เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้ อภิปราย ทดลอง และพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเอง และจะรู้เองว่าสิ่งที่คิดนั้นเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับปัญหาที่กำลังเผชิญหรือไม่
การจัดการเรียนการสอนเช่นนี้ ทำให้ความคิดและการสอนของเราเปลี่ยนไป เรียกว่า “3 เปลี่ยนใหญ่” เปลี่ยนแรก คือ ตัวเราเอง โดยเปลี่ยนการสอนและความคิด ไม่ยึดติดกับวิธีการหาคำตอบ เด็กจะหาคำตอบด้วยวิธีที่หลากหลาย วิธีใดก็ได้ เราเพียงขอให้ได้คำตอบที่เหมาะสมกับโจทย์นั้น ๆ และขอให้เด็กเข้าใจในเนื้อหา เราเปลี่ยนจากครูที่คอยป้อนคอยบอกมาเป็นครูโค้ชที่คอยชี้แนะแนวทาง โดยใช้คำถามนำหรือสร้างสถานการณ์ให้นักเรียนได้ค้นคว้า ลงมือปฏิบัติ เพื่อหาคำตอบ และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ไม่ตัดสินและชี้นำว่าเขาผิดหรือถูก จึงส่งผลให้เด็กมีความเข้าใจในบทเรียนอย่างกระจ่าง
เปลี่ยนที่สอง คือ ตัวนักเรียน เราเห็นได้ชัดเจนจากสีหน้าแห่งความสุขที่ออกมา เพราะช่วยกันคิดช่วยกันค้นคว้าหาคำตอบ ลงมือปฏิบัติเอง แก้ไขปัญหาด้วยกัน ไม่นั่งนิ่ง กลัวจะโดนเรียกตอบคำถาม คอยก้มหน้ากลัวครูสบตาเหมือนแต่ก่อน แต่เปลี่ยนเป็นกระตือรือต้นที่จะตอบคำถาม แย่งกันอธิบาย และมีการตัดพ้อว่าครูทำไมไม่เรียกผม ไม่เรียกหนูตอบสักที นักเรียนยังสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
เปลี่ยนที่สาม คือ ชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนอย่างมาก โดยมาเป็นปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้และคำแนะนำในหน่วยการเรียนรู้ PBL ต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องการทอผ้า การทอเสื่อ ไปจนถึงการทำอาหารชนิดต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าชุมชนเห็นภาพร่วมกันกับโรงเรียนถึงคุณภาพผู้เรียนที่เกิดขึ้นและการสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เมื่อโรงเรียนขอความร่วมมือ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะห่วงการงานของตนมากกว่า และปล่อยให้การเรียนของลูกหลานเป็นหน้าที่ครูอย่างเดียว
หนึ่งเปลี่ยนต่อไปที่อยากให้มีสำหรับตัวเอง คือ การไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องลับคมสมองตลอดเวลา โดยตอนนี้มีกิจกรรม PLC หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ใหม่ ๆ กับเพื่อนครู หรือไม่ก็กับนักเรียนอยู่เสมอ เพราะหลักการสอนหรือบางหัวข้อในบทเรียน ตัวเราเองก็ไม่ได้รู้ไปเสียหมด หากไม่เคยเรียนรู้มาก่อนก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน ดังคำกล่าวที่ว่า “จงทำตัวเป็นนักเรียน ตราบใดที่ยังมีสิ่งให้เรียนรู้ ซึ่งนั่นหมายถึงทั้งชีวิตของเรา”
ในการศึกษาที่เด็กเป็นศูนย์กลาง ครูควรมีโอกาสพัฒนาตนเองและสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้: ครูวันวิสาข์ แม๊กพิมาย
กุญแจสำคัญของการจัดการเรียนการสอน คือครูผู้สอน ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมทักษะต่าง ๆ ให้กับผู้เรียน ความสำเร็จของการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของครู ตลอดจนเทคนิค วิธีการที่ครูเลือกใช้ ครูจึงจำเป็นต้องเลือกกิจกรรมที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ได้คิด ได้ค้นคว้าและลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดทักษะที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ครูจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดำเนินให้ทิศทางในการพัฒนาการศึกษาของไทยสำเร็จลุล่วง
หากว่าดิฉันสามารถจัดการอะไรได้สักอย่าง อยากจะมุ่งความสำคัญในการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาครูให้มีคุณภาพ มีศักยภาพที่หลากหลาย ครูผู้สอนต้องมีความสามารถและตัวเลือกในการใช้เทคนิคนวัตกรรมต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน โดยมีปัจจัยส่งเสริมทีสำคัญคือ มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลกรที่จะมาเป็นครูให้มีคุณภาพ ครูที่อยู่ในโรงเรียนควรได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเองอย่างทั่วถึงต่อเนื่อง มีการนิเทศติดตามการสอนอย่างใกล้ชิด มีการสร้างเครื่องข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และมีการสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ครูอย่างเป็นธรรม
ดิฉันจึงขอขอบคุณเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา (ภาคกลาง) ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ ACCESS School ที่สนับสนุนสหภาพยุโรป ที่ได้มาจัดกิจกรรม Professional Learning Network (PLN) วิพากษ์แผนจิตศึกษา ในวันที่ 28-29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ณ โรงเรียนวัดโคกทอง จ.ราชบุรี ซึ่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครูในเครือข่ายเกี่ยวกับการออกแบบแผนการใช้นวัตกรรมจิตศึกษา และกระบวนการแต่ละขั้นตอนของกิจกรรมจิตศึกษาให้มากขึ้น
ก่อนหน้านี้ ดิฉันยังไม่มีความชัดเจนในแต่ละขั้นของกระบวนการจิตศึกษา ยังขาดความรู้ความเข้าใจการเขียนแผนการสอน และการตั้งคำถามในขั้นชง เชื่อม ใช้ ไม่ชัดเจน ครูที่ใหม่กับนวัตกรรมหรือยังมีประสบการณ์น้อยก็จะออกแบบแผนจิตศึกษาไม่ครบแต่ละขั้นตอนของจิตศึกษา และสื่อที่ใช้ทำกิจกรรมก็จะไม่หลากหลาย จึงทำให้การออกแบบกิจกรรมสำหรับผู้เรียนไม่หลากหลาย
หลังจากอบรมรมแล้วก็ได้นำความรู้จากการอบรมมาเขียนแผนจิตศึกษาและได้นำมาปฏิบัติจริงในห้องเรียน ได้เห็นว่านักเรียนรู้ตัว มีสติ สามารถกลับมารู้ตัวเองได้ด้วยตัวเองอยู่เสมอ รู้เท่าทันความคิดอารมณ์ เมื่อมีภาวะรู้ตัวก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์ตนเองได้รวดเร็ว มีสัมมาสมาธิ สามารถตั้งใจมั่น จดจ่อเพื่อให้การเรียนรู้ของตนหรือการทำภาระงานของตนเองให้สำเร็จลุล่วงได้
ดิฉันมองว่าจิตศึกษาเป็นสิ่งที่สร้างสมาธิให้นักเรียนก่อนที่จะพาพวกเขาเรียนรู้จากการลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางวิชาการหรือทักษะชีวิต จิตศึกษาเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เสริมสร้างความงอกงามภายในและทักษะต่าง ๆ นักเรียนสนุกกับการเรียน มีพัฒนาการด้านการคิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยง ตั้งคำถาม และคิดต่อยอดได้ดีมากกว่าเดิม
นอกจากการพัฒนาด้านสมาธิและความคิด คุณลักษณะของผู้เรียนก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น กล้าตอบกล้าแชร์กับเพื่อนมากขึ้น จากนักเรียนบางคนที่ไม่เคยตอบคำถามในชั้นเรียนแม้เราจะยิงคำถามใส่เขาตรง ๆ เขาก็ไม่เคยตอบ ทุกวันนี้พอเขาเห็นเพื่อนเริ่มตอบและบรรยากาศที่ไม่ตัดสินกัน เขาก็จะกล้าที่จะพูดและแสดงออกมากขึ้น
หากจะจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาให้กับบุคลากรให้ได้ประโยชน์สูงสุด หัวใจสำคัญคือการได้นำความรู้ที่ได้รับนั้นไปต่อยอดความรู้และนำไปปรับใช้จริง การได้ลงมือปฏิบัติจริงตามความเหมาะสมตามบริบทของแต่ละคน แต่ละบริบทของโรงเรียน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตรงกับปัญหาและตรงกับความสนใจของผู้เรียน สิ่งนี้จะทำให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพและผู้เรียนรู้เป้าหมายของการเรียนรู้ได้มากขึ้น
เราอยากได้ครูและคนแบบไหนในสังคม? บันทึกการสอนจิตศึกษาของครูจีรญาดา แซ่ลิ้ม
ก่อนหน้าที่จะบรรจุมาทำงานที่โรงเรียนวัดโคกทอง จ.ราชบุรี ดิฉันเคยทำงานที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ทำงานอยู่ที่นั่นนาน 9 ปี ในช่วง 6 ปีแรกอยู่ห้องเตรียมอนุบาล เราก็มีความสุขดี เพราะไม่ได้เน้นอ่านเขียนแต่เป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ พอช่วง 3 ปีหลัง ย้ายไปสอนชั้นอนุบาล 1 บ่อยครั้งที่มีความรู้สึกไม่ชอบตัวเอง เพราะในใจเราเองก็คิดว่าเด็กควรได้เป็นเด็ก ควรได้ทำอะไรที่สนุกกว่านี้ เราคือคนที่ทำให้รอยยิ้มของเด็กบางคนหายไปหรือเปล่า บางสิ่งเขาต้องทำมันมากเกินไป บางอย่างมันเกินกว่าศักยภาพของร่างกายเขา พอเขาทำไม่ได้ เขาจะถูกกดดันจากเรา และพ่อแม่ ดิฉันอึดอัดมากกับระบบการศึกษาที่เน้นการอ่านการเขียน ระบบที่บอกว่าเด็กเก่งวิทย์คณิตคือคนเก่ง ทั้งที่จริง ๆ แล้วคนเราเก่งและถนัดไม่เหมือนกัน
ยิ่งไปกว่านั้นคือความเชื่อและทัศนคติของสังคมส่วนใหญ่ ที่ส่งผลให้โรงเรียนแข่งขันกัน เมื่อผู้ปกครองมีความคิดความเชื่อเรื่องเกรด เรื่องอ่านออกเขียนได้ เน้นเพียงวิชายอดนิยม ท้ายที่สุดโรงเรียนต้องมีนโยบายต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้นเพื่อให้ได้มาซึ่ง "ลูกค้า" (โรงเรียนบางแห่งเรียกผู้ปกครองและนักเรียนว่าลูกค้า ครั้งแรกที่ดิฉันได้ยินรู้สึกไม่ดีมาก ๆ ทำให้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว ครู โรงเรียน และการศึกษาคืออะไร) ดิฉันมองว่าเขามองข้ามอะไรไปหรือเปล่า เด็กควรเป็นคนดี คนที่มีความสุข มากกว่าการเป็นคนเก่งวิชาการหรือเปล่า? หากเขาเป็นคนดี ความดีและความสามารถของเขาจะสามารถทำให้เขามีความสุข พึ่งพาตัวเอง และช่วยคนอื่นได้
เมื่อได้มาทำงานที่โรงเรียนวัดโคกทอง ทุกอย่างคือสิ่งใหม่ โรงเรียนใช้นวัตกรรมจิตศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) และชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) โดยเรียกตัวเองว่า "โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ" แน่นอนว่านี่คือสิ่งใหม่สิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ และแน่นอนเราต้องสร้างความเข้าใจต่อสิ่งเหล่านี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีของโรงเรียนนี้ ที่มีภาคีเครือข่ายเข้ามาสนับสนุน โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากโครงการดี ๆ ทั้งของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมอย่างโครงการ Access School ที่ให้การหนุนเสริมการพัฒนาครู เพื่อให้พวกเราพัฒนานักเรียนอย่างมีคุณภาพ

เมื่อได้สร้างความเข้าใจ ร่วมฝึกอบรม และนำมาใช้ ดิฉันรู้สึกมีความพอใจ มีความยินดี อิ่มเอมใจที่โรงเรียนเลือกใช้นวัตกรรมเหล่านี้อย่างมาก จิตศึกษาคือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมมาก เราอยากได้คนแบบไหนในสังคมกันล่ะ? จิตศึกษาทำให้ดิฉันเป็นผู้ฟังที่ดียิ่งขึ้น เป็นผู้พูดที่คิดก่อนพูดมากขึ้น เป็นผู้พูดที่ให้กำลังใจ สร้างพลังบวกแก่นักเรียนมากขึ้น ทำให้นักเรียนวางใจเรามากขึ้นเพราะเรารับฟังเขา และให้โอกาสเขาได้พูด ใครจะไปคิดกันว่าเวลา 3-4 นาที นักเรียนชั้นอนุบาลจะสามารถสร้างสรรค์ภาพวาดจากจินตนาการของเขาได้ แม้ไม่ได้แต่งแต้มสีสันให้สมบูรณ์แต่เป็นภาพที่มีเรื่องราว เป็นภาพที่มีความคิดซึ่งผ่านการใคร่ครวญของเขามาแล้ว
แต่ก่อนดิฉันเคยคิดว่าการปล่อยให้นักเรียนได้ใช้เวลาถ่ายทอดจินตนาการออกมาจะดีกว่ามีกรอบกำหนดหรือบังคับ แต่ในชีวิตข้างหน้าของเขา สถานการณ์ที่กดดันและบีบคั้นเราจะเกิดขึ้นเสมอ การที่เราฝึกให้เขาได้ตัดสินใจและกล้าลงมือทำภายใต้เวลาอันสั้นก็ถือว่าเป็นการฝึกที่ดีไม่น้อย จิตศึกษาสะท้อนให้เราเห็นความบริสุทธิ์ในตัวนักเรียนอนุบาลมากขึ้นด้วย เพียงแค่นกบินเล่นก็สร้างรอยยิ้มให้พวกเขาได้แล้ว ดิฉันสัมผัสได้จากสีหน้า แววตา และคำพูดของเขา เมื่อเขารักในธรรมชาติที่สวยงาม เขานี่แหละที่จะช่วยกันดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จิตศึกษาทำให้นักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง เพราะการที่มีเขามีความมั่นใจในตัวเอง และมีคนเคารพความเห็นและรับฟังเขา จะสร้างความกล้าให้เขา สร้างความภาคภูมิใจให้เขา นอกจากการรับฟังแล้ว จิตศึกษายังไม่มีการชีถูกชี้ผิดอีกด้วย ตลอดทั้งกระบวนการ ทุกคนในวงจะอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน หากวันหนึ่งเขาต้องโตขึ้น เขาจะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เป็นคนที่ทำตามกฎกติกา เคารพตัวเองและผู้อื่น ทำในสิ่งที่ถูก สามารถมีความสุขกับสิ่งเล็กน้อย ๆ ได้ มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตนเอง และไม่หลงตามกระแสนิยม

ผู้ (เอื้อ) อำนวยการเรียนรู้และความร่วมมือ: บทเรียนการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก จากโรงเรียนบ้านหนองบัวคู
โรงเรียนบ้านหนองบัวคู ต.หนองไผ่ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ก่อตั้งขึ้นในปี 2514 ด้วยเงินบริจาคที่ชาวบ้านในชุมชนร่วมลงทุนลงแรงสร้างโรงเรียน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ โรงเรียนประสบปัญหาจำนวนนักเรียนลดลง เพระผู้ปกครองย้ายถิ่นฐานครอบครัวไปยังกรุงเทพฯ เนื่องจากโอกาสในการทำงาน
เมื่อมีนโยบายยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง ประกาศออกมาในปี 2562 สิ่งนี้เป็นตัวจุดประกายแนวทางการพัฒนาโรงเรียนบนฐานชุมชนของชาวบ้านหนองบัวคู เนื่องด้วยบริบทเดิมชุมชนมีความรักในโรงเรียน ผู้อำนวยการ บุญเรือง ปินะสา จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกับคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 9 คน, เครือข่ายผู้ปกครอง, คณะกรรมการพัฒนาโรงเรียน จำนวน 22 คน ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำชุมชน, ผู้ปกครอง, เจ้าอาวาส, พระสงฆ์วัดในพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 2-3 แห่ง, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามามีส่วนร่วม หารือในประเด็น นโยบายไม่ยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ผลจากการปรึกษาหารือคือ การยืนยันให้โรงเรียนสามารถดำรงอยู่ได้ตัวเอง มีอุดมการณ์และมีประเด็นท้าทาย คือ ไม่ควรเหมารวมว่าโรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งไม่มีคุณภาพเหมือนกันหมด ทาง สพฐ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษามองที่ผลสัมฤทธิ์การสอบ ONET และ NT แต่โรงเรียนบ้านหนองบัวคูมองว่าคุณภาพของนักเรียนมีหลายด้าน ทั้งทักษะวิชาการ การอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ไปจนถึงทักษะอาชีพและทักษะชีวิต คณะกรรมการเห็นด้วยจึงลงมือทำ เนื่องจากชุมชนมีความผูกพันธ์กับโรงเรียนมาก จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน โดยการนำศาสตร์พระราชามาใช้ ให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ “ผู้อำนวยการเองต้องก้าวออกนอกกรอบ ปรับสนามฟุตบอลให้เป็นผืนนา” ผอ.บุญเรือง กล่าว แม้จะพบปัญหาบ้างแต่ผลที่เกิดขึ้นส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน
ที่บ้านหนองบัวคู ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษา ผู้อำนวยการเป็นผู้ปฏิบัติตามกรอบข้อเสนอแนะหรือแนวทางที่ทุกคนได้กำหนดร่วมกัน หลังดำเนินงานมาได้ 1 ปี เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจาก 40 คน เป็น 67 คนในปัจจุบัน โดยเป็นนักเรียนจากชุมชนอื่น ๆ ได้แก่ บ้านหนองไผ่ด้ามขวานและบ้านอีเล้ง ซึ่งแม้จะเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนประจำตำบล แต่ผู้ปกครองก็มอบความไว้วางใจ ส่งลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองบัวคู
ในด้านการเรียนการสอน โรงเรียนบ้านหนองบัวคูบูรณาการทักษะอาชีพเข้ากับทักษะทางวิชาการ ในตารางเรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 14.30 น. นักเรียนจะมาเรียนรู้ที่ฐานการเรียนรู้ฐานต่าง ๆ และมีครูเป็นผู้ประจำฐานนั้น ๆ โรงเรียนทดลองรูปแบบนี้เรื่อย ๆ จนสิ่งที่ทำเริ่มตอบโจทย์บริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก ทั้งยังเข้ากับนโยบายของเขตพื้นที่การศึกษา ที่สนับสนุนให้โรงเรียนปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

จากที่เคยขาดการดูแลจากการศึกษานิเทศก์ งบประมาณ อาคารสถานที่ เพราะเขตพื้นที่การศึกษามักจะไปดูงานโรงเรียนใหญ่และโรงเรียนที่พร้อมกว่าก่อน วันนี้ โรงเรียนบ้านหนองบัวคูได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานเขตและชุมชน ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวปีที่ผ่านมา โรงเรียนได้เชิญผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามาเป็นประธานและกล่าวให้ภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมเชิญศูนย์วิจัยข้าว สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด งานครั้งนั้นส่งผลให้สำนักเขตพื้นการศึกษาเห็นศักยภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ที่สามารถจัดงานเป็นงานระดับจังหวัดและร่วมขับเคลื่อนระดับประเทศได้ เมื่อโรงเรียนบ้านหนองบัวคูทำเรื่องขอครูเพิ่ม 1 ตำแหน่ง (เพราะเดิมทีมีครูเพียง 2 คน) ทางเขตพื้นที่บรรจุให้เพิ่ม 3 ตำแหน่ง เพราะเห็นพลัง ความตั้งใจ และการเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนสร้างขึ้น
การเปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้งที่เกิดต่อนักเรียน ที่ได้พัฒนาทักษะที่ไม่ใช่เพียงการรับรู้อย่างเดียว แต่ทำเป็นด้วย การเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในฐานต่าง ๆ พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะชีวิต อาชีพ การทำมาหากิน และรู้จักช่วยเหลือผู้ปกครอง
ผลที่เกิดกับครูนั้น ผอ.บุญเรือง สังเกตเห็นว่าครูมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น การลงแปลงทุกวันทำให้เห็นว่าครูชอบทำกิจกรรม ชอบปลูกต้นไม้ ใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนมากขึ้นเพราะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของโรงเรียน
ส่วนชุมชนมีความชื่นชม ยกย่อง หวงแหน พอใจ และภูมิใจในโรงเรียน เมื่อพาไปดูงานที่โรงเรียนต้นแบบของเครือข่ายที่โรงเรียนบ้านหนองบัวคูได้ไปศึกษา ก็สะท้อนออกมาว่ามีแนวคิดเหมือนกับสิ่งที่ยึดมั่นและทำอยู่ ชุมชนมักจะบอกให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนเต็มที่ ส่วนเรื่องงบประมาณชุมชนจะช่วยเหลือ ชุมชนมีความเป็นเจ้าของในแง่นี้ด้วย พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา มีบทบาทหน้าที่เป็นของตนเอง และบทบาทนั้นก็คือ “เจ้าของ” หรืออย่างที่ ผอ.บุญเรืองกล่าวว่า “โรงเรียนเป็นของชุมชน ไม่ใช่ของ ผอ. หรือหน่วยงานใด”

นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้บริหาร การเข้ามาหนุนเสริมขององค์กรภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย, สมาคมไทบ้าน, สภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ ผ่านโครงการ Access School ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน ได้ส่งผลสำคัญอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนและหมู่บุคลากร เช่น
- สร้างแรงบันดาลใจที่จะก้าวข้ามกรอบเดิม ๆ คณะทำงานในพื้นที่ที่โรงเรียนทำงานด้วยมีความรู้และอุดมการณ์ร่วมกัน
- โรงเรียนไม่รู้สึกว่าเดินคนเดียว มีกลไกหนุนเสริม เหมือนมีพี่เลี้ยงคอยเดินร่วมทาง
- ทำให้เห็นภาพด้วยการพาไปศึกษาดูงาน สร้างความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- ทำให้มีความมั่นใจและตั้งใจจริงในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพได้
- มีโอกาสในการเชื่อมโยงงานสู่ระดับเครือข่าย จังหวัด ภูมิภาค และประเทศ มีทุนสนับสนุนในการดำเนินงาน
- มีแนวทางการทำงานที่เพิ่มประสิทธิภาพ มีรูปธรรมที่ชัดเจน
- ทำให้มีหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาสร้างความร่วมมือ เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ประมงจังหวัด ภาครัฐเข้าสนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะ
ประสบการณ์ของโรงเรียนบ้านหนองบัวคูจึงทำให้ ผอ.บุญเรือง ตกผลึกบทเรียนและข้อเสนอต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กได้ดังต่อไปนี้

- บุคคลที่สำคัญและเหมือนหัวเรือใหญ่ คือผู้อำนวยการโรงเรียน เขาจะต้องเป็นคนกล้าที่มีอุดมการณ์ ต้องไม่มองเห็นเพียงอนาคตของตนเองหรือประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น เพราะด้วยธรรมชาติของสายอาชีพ เมื่อเข้ามาโรงเรียนขนาดเล็กแล้วก็มักย้ายไปอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่ต่อ
- ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน โรงเรียนต้องสร้างความเป็นเจ้าของให้ชุมชนเข้ามาร่วมมือ ทำให้เห็นบริบทโรงเรียนบ่อย ๆ ประชุมบ่อย ๆ ไม่ทิ้งหลัก บวร บ้าน-วัด-โรงเรียน เพราะทั้ง 3 ส่วนมีความสำคัญมาก ความศรัทธาของชุมชนอยู่ที่วัด หากวัดพูดชาวบ้านจะทำตาม ทั้งสามส่วนควรจับมือกันให้แน่น มีกิจกรรมหรือวาระอะไรต้องเชิญประชุมทั้งหมด ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การจ้างครูของโรงเรียนบ้านหนองบัวคู ซึ่งชุมชนเป็นคนสนับสนุนเดือนละ 12,000 บาท ทุกปี หรือหากโรงเรียนประสบปัญหาอะไรให้แจ้งชุมชน เพื่อการบริหารร่วมกัน ชุมชนเป็นผู้บริหารคนหนึ่ง ผอ.เป็นผู้เอื้ออำนวย
- สร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน สร้างช่องท่างให้รัฐให้โอกาสชุมชนเลือกรูปแบบการพัฒนาการศึกษาโดยชุมชนเอง เพราะหากอยู่กับนโยบายจะพัฒนายาก
- ประชาสัมพันธ์โรงเรียนและทำสื่ออย่างสม่ำเสมอให้โรงเรียนเป็นที่รู้จัก และพัฒนาทักษะให้ทำต่อไปให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
โรงเรียนขนาดเล็กที่เอาชนะการยุบควบรวม บอกอะไรเราเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน
จากโรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าข่ายถูกยุบ-ควบรวม โรงเรียนบ้านฮากฮาน อ.เวียงสา จ.น่าน ประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือกับชุมชน ให้แข็งแกร่งพอที่จะฟันฝ่านโยบายร้อนปี ’59-60 ของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่า 1 หมื่นโรง
“ความแข็งแกร่ง” นี้หมายถึงอะไร บอกอะไรเราได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน และเป็นตัวอย่างของการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่และนโยบายได้อย่างไรบ้าง?
จากการถอดบทเรียนผ่านประสบการณ์ของโรงเรียนบ้านฮากฮาน Access School โครงการที่ได้รับการสนับสนุนโดยสหภาพยุโรป พบว่า กว่าโรงเรียนบ้านฮากฮานจะมีวันนี้ที่โรงเรียนและชุมชนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและรอดพ้นจากการยุบควบรวมได้ เริ่มจากความพยายามของอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน ปรียานุช วงษ์แก้ว หรือ “ผอ.หญิง” อย่างที่เป็นที่รู้จักในโรงเรียนและชุมชน ผอ.หญิง เข้ามาบริหารตั้งแต่ ปี 2559 ก่อนหน้านี้ ภาพของชาวบ้านที่มีต่อโรงเรียนนั้นไม่ได้สู้ดีนัก และช่วงแรกของการเข้ามาบริหารโรงเรียน ผอ. ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนเท่าไร แต่ด้วยความพยายามของ ผอ. ในการสร้างความร่วมมืออย่างจริงใจกับชุมชน จนปัจจุบัน ผ่านไปร่วม 5 เกือบ 6 ปี ชุมชนกับโรงเรียนนั้นแยกกันแทบไม่ออก ผอ. กล่าวว่า หัวใจคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านว่าโรงเรียนมีอยู่เพื่อพัฒนาชุมชนและลูกหลานของชุมชนอย่างแท้จริง
โรงเรียนร่วมใจ
ผอ.หญิง แบ่งปันเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งว่า ปกติเวลาที่ชาวบ้านมีประชุมหรือหารือกัน จะมาใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ประชุม ซึ่งทาง ผอ. มองว่าโรงเรียนไม่ได้มีพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการจัดประชุมของชาวบ้านมากนัก ต้องนั่งบ้าง ยืนบ้างเวลามานัดพบที่โรงอาหารของโรงเรียน จึงเกิดความคิดอยากสร้างอาคารเอนกประสงค์ขึ้นมาเพื่อการประชุมและการใช้งานอื่น ๆ ขึ้น แต่ด้วยความที่โรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จึงไม่มีงบประมาณสำหรับการต่อเติมโรงเรียน ทางผอ. จึงพยายามติดต่อภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือนี้ จนไปได้วัสดุก่อสร้างเพื่อการก่อสร้างอาคารมาจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทว่าบริษัทสามารถให้ได้เพียงค่าวัสดุมูลค่า 250,000 บาทเท่านั้น ไม่มีค่าแรงงานก่อสร้างให้ ลำพังโรงเรียนก็ไม่สามารถหาเงินมาจ้างคนมาสร้างแน่นอน ผอ.จึงนำเรื่องมาปรึกษากับคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนว่ามีโอกาสนี้เข้ามา จะรับไว้กันดีหรือไม่ ทางคณะกรรมการเลือกที่จะรับ ผู้ใหญ่บ้านฮากฮานซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสถานศึกษาด้วย ก็ได้นำเรื่องไปหารือกับชุมชนว่าจะร่วมด้วยหรือไม่ ชุมชนก็ตอบตกลง จากนั้นเอง สมาชิกชุมชนก็หมุนเวียนกันมาช่วยสร้างอาคารเอนกประสงค์จนเสร็จสิ้น “เราตั้งชื่อว่าอาคารประชาร่วมใจ นี่คือจุดเริ่มต้นที่โรงเรียนสามารถรวมใจของชาวบ้านได้ ชาวบ้านเริ่มสัมผัสได้ว่านี่คือโรงเรียนที่เขาทุกคนเป็นเจ้าของ” ผอ.หญิงกล่าว “ช่วงแรก ๆ ที่มาอยู่ที่บ้านฮากฮานเรามุ่งไปที่ทำอย่างไรให้ปัจจัยพื้นฐานครบก่อน เช่น ห้องน้ำ พื้นที่ที่ปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ” และในที่สุด เมื่อความหวังดีและน้ำพักน้ำแรงของทุกคนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่จับต้องได้ ทั้งเป็นมรดกที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงไม่แปลกที่ชุมชนเริ่มเชื่อมั่นและศรัทธาในโรงเรียนของพวกเขา รวมถึงในตัวผู้นำโรงเรียนเองด้วย
ผู้นำที่มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่งก็คือผู้ใหญ่บ้าน ผอ.หญิงเล่าว่า ผู้ใหญ่บ้านมีบทบาทมาก เป็นผู้มีอุดมการณ์แรงกล้า บวกกับเป็นกรรมการสถานศึกษาด้วย จึงทำให้ทำงานร่วมกันใกล้ชิด “ผู้ใหญ่บ้านเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จ ในฐานะตัวกลางที่จะประสานกับชุมชน เมื่อโรงเรียนขอความช่วยเหลือไป ท่านก็สามารถช่วยรวมพลังชุมชนมาช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ เป็นเหมือนแรงร่วมใจที่เมื่อผู้ใหญ่บ้านประกาศ ชุมชนก็จะรีบมาทันที”
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญคือตอนที่ชาวบ้านร่วมลงขันจ้างครู 2 คนให้แก่โรงเรียนบ้านฮากฮาน ซึ่งมีครูไม่ครบชั้น แม้ว่าชาวบ้านจะมีอาชีพเกษตรกรที่อาจจะมีรายได้ไม่แน่นอน แต่ด้วยความเชื่อมั่นและคุณค่ามีให้ต่อการศึกษา พวกเขากลับบอกว่า “ในเมื่อผู้อำนวยการและครูทำเพื่อชุมชนขนาดนี้ ทำไมพวกเขาจะทำให้ไม่ได้” เงินที่ได้จากการลงขันต่อปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 30,000-40,000 บาท ทำให้โรงเรียนบ้านฮากฮานมีทุนช่วยเหลือในการจ้างครูโดยไม่ต้องทอดผ้าป่าเลย

ในฐานะผู้อำนวยการ ผอ.หญิงเชื่อมาตลอดว่า โรงเรียนที่ดีไม่ได้วัดกันที่โล่หรือป้ายรางวัล แต่ดูที่คุณภาพของผู้เรียน ซึ่งเป็นผลจากการที่ครูจัดการเรียนการสอนอย่างประสิทธิภาพ มีความต้องการของผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบและรูปแบบการบริหารโดยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และมีการบริหารจัดการที่ดี เมื่อวันที่โรงเรียนบ้านฮากฮานเริ่มเข้าที่เข้าทางด้านกายภาพ ก็เหลือเพียงทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาผู้เรียนให้ได้ตามที่ผู้อำนวยการเคยฝันไว้ และพิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อเดิม ๆ ต่อโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทนั้นหมดอายุเสียแล้ว
ในปี 2560 ผอ.หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนโดยสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กน่าน เขต 1 ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ได้ทำความรู้จักและอบรมเรื่องเครื่องมือสอนคิดที่โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย “พอเราเรียนรู้แล้วเราก็ปิ๊งเลย อยากนำกลับมาใช้ ก็เลยปรับใช้เครื่องมือสอนคิดมาเรื่อย ๆ ครูกลายเป็นผู้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เหมือนโค้ชคอยให้คำปรึกษาและกระตุ้นผู้เรียน นักเรียนเองจากที่นิ่ง ๆ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่กล้าแสดงออกเพราะกลัวว่าจะผิด ก็ค่อย ๆ กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น บางคนสามารถแก้ปัญหาใกล้ตัวได้อย่างสร้างสรรค์ และกระตือรือร้นอยากจะเข้าห้องเพื่อเรียนรู้”
“ตัวเราเองก็เปลี่ยน” ผอ.หญิงเสริม “ในฐานะผู้บริหารจากเดิมที่เน้นการเรียนการสอนเป็นหลักโดยไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วม เราใช้ความเป็นกัลยาณมิตรและเพิ่มการพูดคุยและรับฟังกันมากขึ้น สุดท้ายผู้ปกครองเองก็เข้ามาร่วมออกแบบการเรียนรู้ และพัฒนาโรงเรียนร่วมกับครู ชุมชนมีความภาคภูมิใจกับความคิดสร้างสรรค์ของบุตรหลานตนเอง และมีความเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกันในแง่วิชาการด้วย”
เมื่อพูดถึงชุมชนที่ตั้งอยู่บนขุนเขาภาคเหนือ เราคงมองข้ามความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมไปไม่ได้ แต่นั่นไม่มีผลต่อความเป็นหนึ่งของชุมชนแต่อย่างใด เพราะความหลากหลายคือความแข็งแกร่ง โรงเรียนเองยังได้นำบริบทพื้นฐานทางชุมชนที่มีความหลากหลายมาบูรณาการกับการสอนด้วยเครื่องมือสอนคิด เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้ เข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของเพื่อนในกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มองเห็นคุณค่าของตัวเองและของผู้อื่น ให้เกียรติและมีความเห็นอกเห็นใจในตัวผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณลักษณะสำคัญในผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21

มากกว่าโรงเรียน
งานวิจัยในหลายประเทศที่ศึกษาโรงเรียนในฐานะศูนย์กลางของชุมชน พบว่า โรงเรียนประจำหมู่บ้านหรือชุมชนหนึ่ง ๆ มักทำหน้าที่และมีคุณค่านอกเหนือไปจากการเป็นสถานศึกษา และรองรับความต้องการของชุมชนได้กว้างขวางมากที่สุดเมื่อเทียบกับสถาบันพลเมืองอื่น ๆ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ โบสถ์ ศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัย ฯลฯ โรงเรียนเป็นทรัพยากรสำคัญของหมู่บ้าน เป็นสถานที่นัดพบที่เอื้อให้ผู้อาศัยในชุมชน โรงเรียน กิจการ และชุมชนในพื้นที่มีปฏิสัมพันธ์กัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สายสัมพันธ์ และคอนเนคชั่นใหม่ ๆ โรงเรียนอาจเปิดโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และโอกาสทางสังคม วัฒนธรรม และการพักผ่อนหย่อนใจอื่น ๆ โรงเรียนเป็นสถานที่ที่คนจากรุ่นสู่รุ่นมารวมตัวกัน เป็นสถานที่ที่ “หล่อหลอมตัวตนของชุมชน”
สำหรับชุมชนที่โอบล้อมโรงเรียน โรงเรียนบ้านฮากฮานเป็นอะไรบ้าง? ที่แห่งนี้ไม่เพียงเป็นสถานศึกษาใกล้บ้านและ "บ้านหลังที่สอง” ของลูกหลานในชุมชน แต่ยังเป็นทั้ง (1) ห้องเรียนของชุมชน ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะอาชีพแก่ชาวบ้าน เช่น การทำขนม เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพ (2) ห้องสมุดชุมชนที่สามารถมาหาข่าวสารและความรู้ (3) พื้นที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต Wi-Fi ของ กสทช. (4) พื้นที่จัดประชุม ทั้งในระดับชุมชน ตำบล และการประชุมการหน่วยงานอื่น ๆ เช่น เมื่อ อบต. หรือ ธกส. เข้ามาพูดคุยเรื่องการทำเกษตร (5) ศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ เช่น สำหรับชาวบ้านกลุ่มโครงการปลูกโกโก้ของอำเภอเวียงสา (6) พื้นที่ปลูกพืชผักสำหรับชาวบ้าน (7) พื้นที่ออกกำลังกายของชุมชนในตอนเย็น ซึ่งโรงเรียนจะเปิดไฟและมีน้ำดืมไว้ให้ (8) สถานที่จัดงานรื่นเริง เช่น งานแต่งงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคุณูปการต่อชุมชน
เมื่อเป็นพื้นที่ของชุมชน โรงเรียนย่อมคุ้นหน้าคร่าตาสมาชิกชุมชนเป็นอย่างดี แต่หากพูดถึงตัวละครที่มีปฏิสัมพันธ์กับโรงเรียนมากที่สุด และมีบทบาทในการทำให้โรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้อยู่รอดโดยไม่ถูกยุบควบรวมโดยตรงมากที่สุด คงหนีไม่พ้นกลุ่มต่อไปนี้ (1) ผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นทั้งผู้นำชุมชนและประธานกรรมสถานศึกษา มีบทบาทมากในการเชื่อมชุมชนกับโรงเรียน (2) คณะกรรมการสถานศึกษา ทั้งหมด 9 ท่าน ประกอบไปด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการโรงเรียน (เลขานุการ) ครู องค์กรทางศาสนา ตัวแทนผู้ปกครอง ศิษย์เก่า สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ผู้ทรงคุณวุฒิแพทย์ประจำตำบล ผู้แทนชุมชนหรือผู้ใหญ่ที่ชุมชนเคารพนับถือ เช่น อดีตผู้ใหญ่บ้าน (3) ผู้ปกครองในชุมชน ซึ่งติดต่อกันโดยตรงได้ผ่านนักเรียน (4) สมาชิกชุมชนคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้ปกครองนักเรียน (5) ผู้อำนวยการและคณะครู ที่กระตือรืนร้นในการสร้างความร่วมมือกับชุมชน ไปประชุมชุมชนของผู้ใหญ่บ้านทุกเดือน (6) องค์กรเอกชน นิติบุคคลธรรมดา รวมตัวกันมาช่วยผู้อำนวยการ ช่วยสร้างอาคาร ห้องน้ำ นำขนมมาแจกเด็ก ๆ

ผอ.หญิงเสริมว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาก็มีบทบาท แต่ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น “เราเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่เราก็อยู่ได้ เพราะตัวละครกลุ่มอื่นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่โอบอ้อมกันและเข้มแข็งมาก”
หากตอนนั้นโรงเรียนและชุมชนไม่สู้ ไม่เกื้อกูลกันในเรื่องทรัพยากร พิสูจน์คุณภาพทางวิชาการ และความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง โรงเรียนบ้านฮากฮานอาจจะได้รับผลจากนโยบายยุบ-ควบรวม และหากโรงเรียนหายไป ย่อมทำให้ชุดความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนได้รับผลกระทบ เพราะนอกจากเด็ก ๆ ของชุมชนจะไม่มีโรงเรียนใกล้บ้าน และผู้ปกครองต้องรับมือกับ “ราคา” ที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น (ตั้งแต่ราคาเม็ดเงินของค่าเดินทาง การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ไปจนถึงความรู้สึก ความกังวลใจต่าง ๆ ที่มาจากการส่งลูกหลานไปเรียนที่ไกล) เมื่อชุมชนเสียโรงเรียน ชุมชนก็จะเสียพื้นที่สาธารณะไปด้วย พื้นที่ที่เป็นแหล่งรวมใจและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการพัฒนาและความอยู่รอดของชุมชนในทุกมิติ ตั้งแต่เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
ในนามของพี่เลี้ยงครู: กชพร ตุณสุวรรณ ศึกษานิเทศก์ จ.กาฬสินธุ์
หญิงวัย 57 ปี ในชุดผ้าไหมดูกระฉับกระเฉง แม้จะเป็นข้าราชการมาค่อนชีวิต แต่แววตาของเธอที่เหลืออายุราชการอีกไม่นาน กลับยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง
และทั้งหมดจากบรรทัดนี้ไป คือ พลังของราชการตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่กำลังเข็นความหวังความฝันให้เข้าใกล้เป้าหมายอุดมคติทางการศึกษามากที่สุด
ตลอดการทำงานด้านการศึกษามา 35 ปี กชพร ตุณสุวรรณ เริ่มต้นจากการเป็นครูอยู่ 16 ปี ก่อนจะขยับตัวเองมาเป็นศึกษานิเทศก์ "เราเป็นครูมาก่อน สอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนขยายโอกาส มีตั้งแต่อนุบาลถึง ม.3 เคยสอนทุกชั้น ยกเว้น ป.1 เริ่มสอนตั้งแต่ ป.2 แต่ส่วนใหญ่จะสอน ป.5-6 ต่อมาเป็น ม.1-3"
ครั้งนั้นเธอเล่าว่าการสอนเป็นระบบเก่า หลักสูตรการศึกษา พ.ศ. 2533 เป็นหลักสูตรที่มีสาระวิชาแค่ 5 วิชา คือ สปช.1 คณิตศาสตร์ ภาษาไทย กพอ.2 สลน.3 เวลาสอนจะไม่วุ่นวายมาก สำหรับระดับประถม เพราะเป็นวิชารวม
เธอว่าเธอเป็นครูที่อยู่กับบ้าน คือบ้านกับโรงเรียนอยู่ใกล้กัน เพราะฉะนั้นจะมีความรู้สึกเหมือนว่าบ้านกับโรงเรียนไม่ได้แยกจากกัน "เราอยากมาโรงเรียนเมื่อไหร่ก็มาได้ เสาร์ อาทิตย์ก็มา เป็นเหมือนที่ทำงาน หรือเป็นบ้านอีกที่หนึ่ง เริ่มงานครูครั้งแรกบรรจุที่โรงเรียนหนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ พอเราเป็นครูในพื้นที่ สอนมาหลายช่วงอายุ สามารถพูดคุยกับชาวบ้านและชุมชนได้"
จากประสบการณ์ครู เธอบอกว่าสมัยก่อนหากควบคุมเด็กให้อยู่ในกรอบได้ เด็กจะเชื่อถือ และเชื่อมั่นเรา เพราะไม่มีสื่อ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ทีวีก็ยังมีน้อย แต่ทุกวันนี้แตะเด็กไม่ได้ ตีก็ไม่ได้ เป็นยุคโซเชียลมีเดียและการตระหนักถึงสิทธิ กชพรเล่าถึงหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ว่า ช่วงที่ตนเป็นครู ไม่เคยเห็นศึกษานิเทศก์เข้าไปในห้องเรียนเลย ทั้งที่ศึกษานิเทศก์จะต้องเป็นผู้พัฒนาการศึกษา พัฒนาครู และช่วยเหลือครู นี่เป็นคอนเซ็ปต์ของหน้าที่เรา อีกทั้งเมื่อก่อนมีหน่วยงานเดียวคือกรมวิชาการ พอมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เริ่มมีหลายสำนัก คนก็แข่งกันเก่ง แข่งกันเรียนหนังสือ แข่งกันเป็นด็อกเตอร์ ทำให้ด้านวิชาการต่าง ๆ นวัตกรรมต่าง ๆ เริ่มถูกเอาออกมาทดลอง แล้วผลักมาสู่โรงเรียน โดยผ่านศึกษานิเทศก์
"ต่างคนต่างเอามาทดลอง เพื่อทำวิทยานิพนธ์เป็นผลงานของตัวเอง ศึกษานิเทศก์เลยออกมาในรูปของการอบรมเป็นส่วนใหญ่"
แต่ด้วยอายุและประสบการณ์ กชพรรู้สึกว่าทำไมต้องวิ่งตามนโยบายที่มีเยอะเหมือนคนกินข้าวอิ่มมาก ๆ เมื่อก่อนมีพลังเยอะ ใครเอาอะไรมารับได้หมด พร้อมที่จะถ่ายทอดตลอดเวลา แต่ตอนนี้เริ่มที่จะเลือกกินอาหารดี ๆ เลือกที่เหมาะสม
"มันเกิดความคิดว่าเด็กจะเปลี่ยนได้ครูต้องเปลี่ยนก่อน อะไรที่จะทำให้ครูเปลี่ยน ก็ไปเจอกับนวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเรื่องทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ ซึ่งตอนแรกเราคิดว่าตลอดชีวิตข้าราชการ ไปดูงานจะเจอที่ไม่ใช่ของจริง เราเห็นมาหมดแล้ว ผักชีโรยหน้าทั้งนั้น มีของจริงอยู่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่พอไปเห็นแล้วก็เดินเข้าห้องเรียนก่อนเลย เข้าไปดูว่าสอนยังไง เราก็ไปเจอมายแมป (Mind Map) เจอผลงานเด็ก เราเข้าไปอ่าน ที่ผ่านมาเจอผลงานเด็กที่เป็นลักษณะก็อปปี้ แต่โรงเรียนนั้นกลับไม่เหมือน เวลาเด็กพูดคุยกับครู ก็ไม่ตื่นตูม มีสมาธิดีมาก จากนั้นก็เริ่มแนะนำผู้อำนวยการโรงเรียนในเขตพื้นที่ที่เราดูแล เช่น โรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม"
นวัตกรรมการเรียนการสอนแบบใหม่ กชพรบอกว่า ถ้าคนมององค์รวมเป็นจะรู้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เศรษฐกิจพอเพียงคือการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning หรือ PBL) อย่างหนึ่ง ซึ่งเริ่มทำกัน 3 โรงเรียนก่อน คือโรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม โรงเรียนหนองพอกวิทยายน โรงเรียนดงพยุงสงเคราะห์ “เราพาผอ.โรงเรียน กับครูวิชาการไปโรงเรียนละ 2 คน ไปดูก่อน ถ้าชอบต้องมาทั้งโรงเรียน ถ้าไม่ชอบก็จบ พอเข้าไปดูแล้วเขาชอบ เลยพาครูไปทั้งโรงเรียน เดิมทีในเครือข่ายของเรามีทั้งหมด 30 โรงเรี ยน พอกลับมาส่วนใหญ่ฮึกเหิม จิตศึกษาทำง่าย เห็นผลเร็วกับเด็ก เด็กนิ่ง มีสมาธิ มีจิตอ่อนโยนลง”
ในนามศึกษานิเทศก์ที่ต้องเสมือนเป็นพี่เลี้ยงครู กชกรบอกว่าครูทดลองทำอยู่ 30 สัปดาห์ เด็กเปลี่ยน เด็กมัธยมจากหนีเรียนไปข้างนอก ไปขี่มอเตอร์ไซค์ เขาไม่หนีเรียน เพราะกิจกรรมจิตศึกษาทำให้เด็กรักครู รักที่จะเรียน ครูรักเด็ก จากที่ครูตวาดเด็ก ตีเด็ก เขาจะไม่ตี ไม่ดุ ส่วนเด็กก็ได้สะท้อนตัวเอง โดยให้เขาบอกว่าวันนี้ได้เรียนรู้อะไร ภูมิใจอะไร เขาจะพูดทุกวัน
"การสอนของครูแบบเดิมคือพูดคนเดียว แล้วเด็กก็มีหน้าที่ฟัง จด พอเราไปเห็นลักษณะนั้น เราเลยมีความรู้สึกว่าเหนื่อย บางทีแค่คำถามเล็ก ๆ เด็กตอบไม่ได้ เด็กต้องรอครู บางทีเราไม่ได้ต้องการคำตอบที่ถูกต้อง แต่เราถามเพื่อดูไหวพริบ ทักษะการตอบ วิธีการตอบของเขา แต่ครูบอกไม่ได้ ต้องตอบให้ถูก"
กชพรพาเดินเข้าไปในหัวใจครู เธอบอกว่า "ครูมีจรรยาบรรณวิชาชีพอยู่แล้ว รู้อยู่แล้วว่าต้องสอนอะไร แต่อาจจะมีความรู้ใหม่ที่ต้องเพิ่มเติม สำคัญที่สุดคือใจ ถ้ามีใจรักที่จะทำ จุดเปลี่ยนของครูอยู่ตรงนี้ คำว่ายากก็จะไม่มี คำว่าทำไม่ได้ก็จะไม่มี"
แน่นอนว่าการเปลี่ยนเด็กเริ่มจากการเปลี่ยนครู แต่ในสายธารของการศึกษา กระบวนการเรียนรู้ที่กชพรพูดมาก็เปลี่ยนตัวเธอเองไม่น้อยเช่นกัน
"มีความรู้สึกว่าอยากทำศูนย์เรียนรู้ ให้ลูกใครก็ได้ที่เขาไม่มีทรัพยากรพอที่จะส่งเสียเรียน เราจะสอนโดยจะใช้ทั้งนวัตกรรมจิตศึกษา กับ PBL" กชพรบอก คล้ายกับอยากเป็นครูเองอีกรอบ
ถามกชพรว่า คิดว่าช่วงก่อนเกษียณจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างที่คาดหวังหรือไม่ เธอบอกว่าสิ่งที่อยากเห็นคงไม่ได้หวังผลว่าจะเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศไทย เอาแค่เฉพาะกาฬสินธุ์ที่ทำอยู่ คิดว่าจะได้เห็น มั่นใจว่าภายใน 3 ปีต้องมีอีกหลายโรงเรียนที่จะประสบความสำเร็จแน่นอน
"ทำไมถึงกล้าบอกว่า 3 ปี เพราะตอนนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะแยะไปหมด เมื่อก่อนเข้าไปนิเทศก์ห้องอนุบาล ตอนบ่ายวุ่ยวายมาก เพราะเด็กจะไม่ฟัง ไม่เป็นระเบียบ เด็กวิ่งมาตะโกนโหวกเหวก คุยไม่รู้เรื่อง ไม่เป็นภาษา ถามคำตอบคำ หรือพูดไปเรื่อยเปื่อย แต่ปลายปี 60 หลังจากใช้นวัตกรรม ไปคุยกับเด็ก เขาคุยกับเราเหมือนผู้ใหญ่คุยเป็นเรื่องเป็นราว มีสัมมาคารวะ หรือถ้าถามว่านี่ผักอะไร เอาไปทำอะไร สีอะไร เขาจะตอบรู้เรื่องกว่าเด็กที่ไม่ผ่านกระบวนการเรียนนี้"
กชพรย้ำถึงการปฏิบัติลงมือทำจริง ไม่ใช่การคิดไปเอง "พอทำแล้วได้ผล ขนาดโรงเรียนหรืออายุของครูไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่จะเอานวัตกรรมเข้าไปใช้ อยู่ที่ใจล้วน ๆ ถ้าพร้อมจะเปิดรับและกล้าสู้กล้าทำ ที่สำคัญคือการสื่อสาร
"ตอนนี้ครูเรายังเปลี่ยนไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ท้าท้ายคือจะทำยังไงให้ครูทุกคนในโรงเรียนเห็น แต่ก็มีปัจจัยเพิ่มขึ้นมาอีก เช่นครูที่เราเทรนไว้แล้ว ให้ความรู้ ปรับสภาพจิตใจทุกอย่างดีหมดแล้ว แต่เขาย้าย พอได้ครูคนใหม่มาแทน เราต้องมาทำการเทรนใหม่อีก นี่คือสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้"
ส่วนครูที่ไม่ย้ายไปไหนก็มีไม่เห็นด้วยและไม่ลงมือทำ นี่คือโจทย์ของกชพรในนามของศึกษานิเทศก์ แต่เหมือนเธอบอกว่าทุกอย่างถ้ามีใจ ไม่มีคำว่ายาก ตรงนี้เธออาจกำลังบอกกับตัวเองอยู่ด้วยก็เป็นได้
"ถ้าจะให้เปลี่ยนได้จริง ๆ ครูต้องเห็นผลผลิตของคนที่ทำ เมื่อเขาเห็นว่าได้ผลจริง ซึ่งเราขออย่างเดียวคือว่าถ้าไม่ทำอย่าขัดขวาง ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนจะนิ่งไม่ได้ ครูก็ต้องคอยดูเด็กของตัวเอง ผอ.ต้องคอยดูครูของตัวเอง ถ้าครูเริ่มไฟมอดแล้วก็ต้องคอยเติมไฟให้"
อย่างน้อยสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ในสายตาของกชพร อาจบรรลุเป้าไปเกินครึ่งทางแล้ว
"เด็กตั้งใจเรียน มีทักษะกระบวนการคิด มีวินัย ความรับผิดชอบ อ่อนน้อมถ่อนตน และมีมารยาท" กชพรย้ำถึงสิ่งที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจในการเปลี่ยนแปลง
บางความคิดที่กำลังหมดหวังต่อราชการไทย แต่คนอย่างกชพรกำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าเธอกำลังสร้างความหวังใหม่ และส่งต่อไฟให้ครูอีกหลายคนรับไปลุกโชนเพื่อนักเรียนของพวกเขา
1 สปช. (สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต) กลุ่มสาระการเรียนรู้หลักสูตร พ.ศ.2521 ที่ประกอบด้วยเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์
2 กพอ. (การงานพื้นฐานอาชีพ) กลุ่มสาระการเรียนรู้หลักสูตร พ.ศ.2521 ที่ประกอบด้วยเนื้อหางานบ้าน การเกษตร งานช่าง งานประดิษฐ์ และคอมพิวเตอร์
3 สลน. (สร้างเสริมลักษณะนิสัย) กลุ่มสาระการเรียนรู้หลักสูตร พ.ศ.2521 ที่ประกอบด้วยเนื้อหาวิชาจริยศึกษา พระพุทธศาสนา ดนตรี-นาฏศิลป์ และศิลปะ
"อย่างน้อยมีคนมองเห็นว่ามีเราอยู่": รัชนี แป๊ะเซ็ง ชุมชนสระต้นโพธิ์ จ.ภูเก็ต
“อยากจะบอกกับรัฐว่า ต้องลงมาดูว่าคนกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลืออะไร เขาเรียกร้องเกินไปหรือไม่ ความต้องการของพวกเขาเกินความสามารถของรัฐหรือไม่ จริง ๆ อยากได้งบมาช่วย ที่เราสามารถต่อยอดได้ เรามีมือ เรามีแรง เราก็ทำได้ ถ้ามาแบบโครงการคนละครึ่ง แป๊บเดียวก็หมด เอาเงินมาสนับสนุนเรื่องอาชีพดีกว่า”
รัชนี แป๊ะเซ็ง หนึ่งในชาวบ้านของชุมชนสระต้นโพธิ์ ในจังหวัดภูเก็ต ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หลังจากที่เคยถูกขับไล่ออกจากที่ดินและบ้านที่ตนอาศัยอยู่เมื่อ 7 ปีก่อน
รัชนี พื้นเพเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ย้ายมาอยู่ภูเก็ตเพื่อหาโอกาสทางอาชีพ แล้วต้องย้ายออกจากที่ที่ไปตั้งรกราก จนต่อมารัชนีและชาวบ้านได้รวมตัวและเข้าร่วมเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต ร่วมกันทำกิจกรรมทางสังคม โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิชุมชนไท ร่วมกับพีมูฟ (เครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม) และมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ภายใต้โครงการที่ดินคือชีวิต ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ได้เจรจาต่อรัฐเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของสมาชิกทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ จนนำไปสู่การแก้ปัญหาและสร้างชุมชนใหม่สระต้นโพธิ์
ก่อนการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 รัชนีมีอาชีพพนักงานในสปาแห่งหนึ่งในภูเก็ต รายได้ไม่ต่ำกว่า 800-900 บาท ต่อวัน และสามารถใช้ชีวิตและเลี้ยงดูครอบครัวอย่างไม่ลำบากนัก หลังจากเกิดการระบาดขึ้น สปาถูกสั่งปิด ทำให้ขาดรายได้ ไม่มีแม้แต่เงินจะไปลงทุนทำอย่างอื่น เพราะเพียงจะหาซื้ออาหารการกินเพื่อประทังชีวิตแต่ละวันยังลำบากมาก และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เนื่องจากตนเป็นหนึ่งในประชากรแฝงที่ไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ที่ ภูเก็ต ความช่วยเหลือถูกส่งไปใหผู้ที่มีทะเบียนบ้านในจังหวัดนี้ก่อน
โชคยังดีที่ครั้งนี้รัชนีได้รับความช่วยเหลือแบบเร่งด่วนอีกครั้ง จากมูลนิธิชุมชนไทและมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ภายใต้โครงการอียูรับมือโควิด รัชนีและชาวบ้านในศูนย์ชุมชนใหม่สระต้นโพธิ์ ต่างได้รับมอบถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง มีการจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันปัญหาของแต่ละคน เพื่อหาข้อสรุปในการรับมือเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในชุมชนในปัจจุบันและในอนาคต
สุดท้าย รัชนีกล่าวว่า ความลำบากที่ผ่านมาสอนให้ต้องสู้ ให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ต้องขอบคุณพี่น้องที่อยู่ในเครือข่ายที่คอยสนับสนุนกัน รวมถึงโครงการอียูรับมือโควิดที่ให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ และไม่ทอดทิ้งพวกเขา ความช่วยเหลือนี้ทำให้รัชนีและคนอื่น ๆ ในชุมสามารถยืนหยัด รับมือกับปัญหา และก้าวผ่านความลำบากได้อีกครั้ง
“การที่โครงการอียูรับมือโควิด ยื่นมือมาช่วย ทำให้จิตใจเราดีขึ้น มีแรง มีกำลังสู้ต่อไป อย่างน้อยมีคนมองเห็นว่ามีเราอยู่ ไม่ปล่อยเราทิ้งไว้”

ชุมชนมั่นคงทางอาหาร เสริมสร้างความยืดหยุ่นในยุคโควิด
เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ชุมชนเปราะบางจำนวนมากต้องตกอยู่ในสภาพที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ขาดเงินที่จะซื้อหาอาหารและโภชนาการที่จำเป็นในแต่ละวัน ความมั่นคงทางอาหารเป็นคำตอบหนึ่งที่โครงการอียูรับมือโควิด นำโดยมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี ได้ทำให้เกิดขึ้นเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเพิ่มโภชนาการให้แก่ชุมชนกลุ่มเป้าหมาย เน้นไปที่การส่งเสริมรูปแบบการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี ส่งเสริมให้สามารถปลูกผักไว้กินในครัวเรือนและขยายสู่ชุมชน เพื่อลดความตึงเครียดจากการระบาดของโควิด-19 และเสริมสร้างสุขภาพกายและจิตใจของกลุ่มเป้าหมายให้ดีขึ้น
ในปี 2563 มูลนิธิชีววิถีได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มความรู้และส่งเสริมอาชีพการปลูกผัก ตั้งแต่การปรุงดินไปถึงการผลิตอาหารปรุงสำเร็จ ณ สวนชีววิถี ตำบลไทรม้า อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เป็นการอบรมแกนนำ 9 ชุมชน จากชุมชนโพธิ์เรียง ไทยเกรียง ไทยน้อย อำนาจเจริญ ชุมพร วัดสวัสดิ์ สวนหลวง วาไทยอยุธยา และวาไทยนนทบุรี รวม 30 คน

พรณรง ปั้นทอง ผู้รับการอบรมซึ่งเป็นแกนนำเครือข่ายทางภาคอีสาน จากจังหวัดอำนาจเจริญ เล่าว่า ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เขาและชุมชนได้รับผลกระทบมาก ทั้งเรื่องการเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพ ทำให้รายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่ไม่เป็นปัญหามากนัก คือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากเครือข่ายของพรณรงเคยร่วมทำงานและได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิชีววิถีทางด้านการทำเกษตรอินทรีย์ ชุมชนจึงสามารถแก้ปัญหาจากสภาวะขาดแคลนอาหารในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น
พรณรงได้ตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร จึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมภายใต้โครงการอียูรับมือโควิดอีกครั้ง เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร และนำไปพัฒนาชุมชนของเขาให้ยั่งยืน
“การเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์มาก ช่วยเสริมสร้างทักษะทางการเกษตรจากคนที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย จากที่เคยทำกันมาเองตั้งแต่ปู่ย่าตายาย งู ๆ ปลา ๆ ให้มีทักษะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนทุกเรื่องตั้งแต่การปลูกผัก ไปจนถึงการเก็บรักษาที่ถูกต้อง”

พรณรง กล่าวต่อว่าสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเขาหลังจากการอบรม คือความรู้ที่ถูกต้อง ที่ใช้ได้จริง และเป็นประโยชน์แก่ครัวเรือนและชุมชนของเขาอย่างมาก จนนำไปสู่การส่งต่อความรู้ที่ได้จากการอบรมไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในเครือข่ายทางภาคอีสานของเขาในอนาคต
สุกัญญา เกิดทิม มาจากเครือข่ายพื้นที่ชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เธอเล่าว่า ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เธอมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เมื่อเกิดการระบาดขึ้นทำให้ถูกลดจำนวนเวลาทำงานลง จนกระทั่งถูกเลิกจ้างงานในที่สุด ปัญหาที่ตามมาคือ เรื่องรายได้ที่เข้ามาจุนเจือครอบครัว รวมไปถึงเรื่องปากท้อง การซื้อหาอาหาร ที่ไม่สามารถหาซื้อได้เหมือนเหมือนแต่ก่อน
หลังจากการอบรม สุกัญญาเล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น และจะนำไปต่อยอดในพื้นที่ของตน โดยเริ่มจากการทำแปลงผักในบ้านและชุมชน รวมถึงแบ่งปันและถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับเพื่อน ๆ ในชุมชนอีกด้วย
“การอบรมวันนี้ เป็นเรื่องของการปรุงดิน การปลูกผักไว้กินเอง เชื่อว่าในอนาคตผักที่ปลูกได้ สามารถเอาไปแบ่งปันให้เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนฝูงได้กินด้วย จริง ๆ ไม่ใช่แค่ผัก ความรู้ที่ได้ก็สามารถเอาไปแบ่งปันได้ด้วยเช่นกัน”

ขจร ฉูตรสูงเนิน จากเครือข่ายพื้นที่ชุมชนไทยเกรียง จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันเป็นช่างซ่อมบำรุงในชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ ถึงส่วนตัวเขาจะมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่มากเท่ากับคนอื่นในชุมชน แต่ต้องประสบปัญหาเรื่องอาหารการกิน เพราะบางครั้ง ภรรยาไม่สามารถออกไปตลาดได้ทุกวันเหมือนเมื่อก่อน ด้วยความสนใจเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และเคยปลูกผักกินเองอยู่บ้างที่บ้าน จึงสนใจเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ เพราะอยากปลูกผักกินเองอย่างถูกวิธี และเป็นตัวอย่างให้กับคนในชุมชน
“ความรู้บางอย่างในการอบรมเราไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเรื่องการปลูกพืช เราไม่เคยรู้ว่าต้องมาทำความสะอาดก่อนใด ๆ การมาอบรมครั้งนี้ถือว่าได้ความรู้เยอะ ที่สามารถใช้ได้จริง”
หลังการอบรมครั้งนี้ ขจรจะสามารถมีผักสวนครัวที่ปลูกไว้เองที่สามารถนำมาทานได้ทุกวัน และแบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้ ที่สำคัญเขาเชื่อมั่นว่าความรู้นี้จะยังสามารถช่วยให้เขารับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้และในอนาคตต่อ ๆ ไปได้