การรับมือและฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19

ชื่อโครงการ

โครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมในการต่อสู้โรคโควิด 19 ในประเทศไทย – ปฏิบัติการทั่วประเทศ (โครงการอียูรับมือโควิด)

ที่มาโครงการ

มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ทำงานกับกลุ่มชุมชนชายขอบที่ประสบปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มแพร่ระบาดในประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคีร่วมโครงการ ได้แก่ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิชุมชนไท และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ องค์กรเหล่านี้มาร่วมกันเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือชุมชนในการบรรเทาทุกข์ ฟื้นฟูและการตั้งรับปรับตัว กลุ่มคนไร้รัฐที่อาศัยตามแนวเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า แรงงานต่างด้าวจากพม่า ลาว เขมร ที่ไม่สามารถกลับประเทศได้เนื่องจากการประกาศปิดประเทศของไทย รวมถึงแรงงานนอกระบบในเขตเมือง ชุมชนยากจนในเขตเมืองกึ่งย่านอุตสาหกรรม คนยากจนในเขตชนบท ซึ่งรวมถึงเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชาติพันธุ์ องค์กรเหล่านี้ได้ทำงานในการช่วยบรรเทาทุกข์แก่ชุมชนที่เปราะบาง ซึ่งนำไปสู่การฟื้นฟูและสนับสนุนความเป็นไปได้ในการตั้งรับปรับตัวในช่วงต่อจากการบรรเทาทุกข์อีก 2 ปี มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และกลุ่มองค์กรภาคีความร่วมมือนี้ได้ร่วมกันเตรียมการออกแบบกิจกรรม โดยให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้พิการในชุมชนเป้าหมาย องค์กรภาคประชาสังคมและองค์การชุมชนลำดับสามที่ได้รับทุนโครงการย่อยอีก 7 องค์กรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ

พื้นที่ปฏิบัติการ

28 จังหวัดใน 5 ภูมิภาค คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน

กรกฏาคม 2563 - กรกฏาคม 2565 (24 เดือน) รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต่าง ๆ ในภายหลัง ระบบเศรษฐกิจจะค่อย ๆ เปิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสนับสนุนความต้องการของชุมชนที่จะรวมพลังทำงานด้วยกันอีกครั้ง

วัตถุประสงค์ของโครงการ

    • วัตถุประสงค์โดยรวม: เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมของไทยในการทำงานกับชุมชนต่าง ๆ ในประเทศไทยที่มีความเปราะบาง ในการป้องกัน จัดการแก้ไข ลดความเสี่ยงและช่องว่างต่าง ๆ ในบริบทของโรคโควิด-19
    • วัตถุประสงค์เฉพาะ: เพื่อสนับสนุนและสร้างเสริมศักยภาพและการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมของไทยในการต่อสู้ ฟื้นฟู และสร้างการตั้งรับปรับตัวให้กับชุมชนต่าง ๆ ที่มีความเปราะบางมากที่สุดเพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ ทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากโรคโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก

โครงการอียูรับมือโควิด EU COVID-19 Response and Recovery in Thailand – Nationwide Intervention

กลุ่มเป้าหมาย

    • ชุมชนที่มีความเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้แก่ 1. กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า กัมพูชา และลาว 2. แรงงานนอกระบบในเขตเมือง 3. กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเล 4. กลุ่มคนไร้รัฐ 5. ชุมชนคนจนในเมือง 6. ชุมชนคนจนในชนบท รวมถึง เกษตรกรรายย่อย 7. โรงเรียนและศูนย์ชุมชน ประกอบด้วยเด็กจำนวน 12,970 คน (เด็กหญิงจำนวน 5,780 คน) จำนวนกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 387,038 คน
    • องค์กรภาคีร่วม ได้แก่ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และ อีก 7 องค์กรลำดับสามที่ได้รับทุนโครงการย่อย
    • เจ้าหน้าที่ภาครัฐ จากกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลัง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับท้องถิ่น

ผู้ได้รับประโยชน์เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ

ประชากรจำนวน 9,500,000 คน จากการผลักดันนโยบายและโครงการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ต่าง ๆ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

    • การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับชุมชนชายขอบที่เผชิญกับปัญหามากที่สุด: องค์กรภาคประชาสังคมให้การช่วยเหลืออย่างทันทีแก่ชุมชน และชุมชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่สำคัญ รวมทั้ง ระบบสุขภาพและชุมชนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 สามารถเข้าถึงข่าวสารได้
    • การฟื้นตัวและการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม: องค์กรภาคประชาสังคมสนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะกับเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนทางสังคมในการที่จะช่วยเหลือชุมชนที่มีความเปราะบางที่สุดในประเทศไทยได้สามารถฟื้นตัวและได้รับการฟื้นฟูจากผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19
    • สร้างการตั้งรับปรับตัวและความพร้อมของชุมชนเปราะบาง: องค์กรภาคประชาสังคมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นในการเตรียมความความพร้อมและการตั้งรับปรับตัวเพื่อต่อสู้กับวิกฤติต่างๆ ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กิจกรรมหลัก

    • การช่วยเหลือด้านอาหาร ที่พักพิงชั่วคราว การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข อุปกรณ์ป้องกันส่วนตัว ถุงยังชีพสำหรับกลุ่มเป้าหมาย กิจกรรมเน้นกลุ่มผู้หญิงและเด็ก การช่วยเหลือด้านกฎหมายให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ การรณรงค์ด้านข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19
    • การพัฒนาทักษะต่าง ๆ และสร้างการตั้งรับปรับตัวในการดำรงชีวิตให้กับชุมชนเปราะบาง การช่วยเหลือเพิ่มเติมของความต้องการด้านอาหาร นวัตกรรมการแก้ไขปัญหา การผลักดันนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงทางสังคม การฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของผู้ประกอบอาชีพ
    • ชุมชนสีเขียวนำร่อง จัดตั้งระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าในชุมชน สร้างการตั้งรับปรับตัวให้กับชุมชนเป้าหมาย

โครงการอียูรับมือโควิด EU COVID-19 Response and Recovery in Thailand – Nationwide Intervention

มีส่วนร่วมกับเรา


สิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร

ในฐานะขององค์กรที่ทำงานอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน เราเห็นถึงอุปสรรคที่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านสิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ

ที่ผ่านมา มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยทำงานร่วมกับหน่วยงานนานาชาติในโครงการพิเศษระยะสั้น และสำหรับปี 2561 นี้ไปจนถึงปี 2564 เราได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรอย่างใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

จากข้อมูลกรมพัฒนาที่ดินปี 2557 พบว่าคนไทยเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่เป็นเจ้าของที่ดินได้ ซึ่งหากพิจารณาการถือครองที่ดินตามสัดส่วนประชากรแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 60 มีที่ดินรวมกันเพียงร้อยละ 4.69 ต่อพื้นที่ทั้งหมด ขณะเดียวกัน พบพื้นที่ทิ้งร้างที่ไม่ทำประโยชน์รวมกันถึง 7.5 ล้านไร่

ปัจจุบัน นโยบายประเทศส่งผลให้สิทธิของชุมชนอ่อนแอลง ที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ และการให้สัมปทานเหมืองแร่ที่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลส่งผลให้ทิศทางของการพัฒนาไม่แน่นอนและไม่ต่อเนื่อง การผลักดันขององค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงมักหยุดชะงักลงเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่

โครงการส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร เป็นโครงการที่ดำเนินร่วมกันระหว่าง มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) และมูลนิธิชุมชนไท (มชท.) และมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปีตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2564 โครงการฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนไร้ที่ดินหรือประสบความยากจนทางที่ดิน และหน่วยงานรัฐบาล ในการแก้ปัญหาสิทธิในที่ดิน และช่วยชุมชนสร้างความมั่นคง และปกป้องวิถีการดำรงชีวิตด้วยแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ

โครงการดังกล่าวสนับสนุนการส่งเสริมศักยภาพขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ ได้แก่ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปการสังคมและการเมือง (คปสม.) และดำเนินงานอยู่ในพื้นที่ชุมชนไร้ที่ดินหรือประสบความยากจนทางที่ดิน 4 ประเภท ได้แก่ เกษตรกรและชาวประมงรายย่อย ชาวเล ชุมชนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง และคนไร้สัญชาติใน 16 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย

อ่านเรื่องราวล่าสุดจากโครงการส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร >


สิทธิสตรี

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน และสังคม แม้ว่าความเท่าเทียมทางเพศจะมีความก้าวหน้าขึ้นมากในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนเข้าศตวรรษที่ 21 เช่น รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ได้วางหลักการเรื่องความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม แต่ในภาพของความเป็นจริง ผู้หญิงยังไม่มีบทบาทเทียบเท่าผู้ชาย ทั้งในเชิงปฏิบัติ ค่านิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรม

ความรุนแรงในครอบครัวยังมีให้เห็น ซึ่งในสังคมไทยจะถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวที่คนนอกไม่ควรเข้าไป นอกจากนี้ ผู้หญิงยังไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ์ของตน จากรัฐบาล และองค์กรเอกชนเลย

มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย มุ่งสร้างความแข็งแรงให้กับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในเรื่องของความสามารถ ฝีมือ และความรู้ต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พวกเขามีความมั่นใจ กล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตตัวเองได้ อาศัยอยู่โดยปราศจากความหวาดกลัวเกี่ยวกับความรุนแรง และเข้าร่วมการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง เรายังสนับสนุนและร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายเมืองและหน่วยงานท้องถิ่น ในโครงการ “เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” (Safe Cities for Women) เพื่อรณรงค์และพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองให้ผู้หญิงและเด็กหญิงอาศัยอยู่อย่างปลอดภัย ไร้ความกลัวและกังวลในชุมชนของตน

ภายหลังปี 2557 ที่มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย เริ่มดำเนินงานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของภาคประชาสังคม ในการปัญหาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิชุมชนศรัทธาและเครือข่ายในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เพื่อพัฒนาศักยภาพและพลังทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน ผ่านการพัฒนาศักยภาพ การอบรมเรื่องสิทธิสตรี สิทธิในที่ดิน ทักษะความเป็นผู้นำ รวมถึงการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายใหญ่

อ่านเกี่ยวกับงานรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง >

การศึกษาและเยาวชน

สิทธิในการศึกษา

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการลดความยากจนและความไม่เท่าเทียมในประเทศไทย รัฐธรรมนูญของประเทศไทยรับรองสิทธิเด็กให้เรียนฟรีในช่วง 12 ปีแรก อย่างไรก็ตาม คุณภาพของการศึกษาที่ไม่สม่ำเสมอ และความเท่าเทียมด้านสิทธิในการศึกษายังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

ในปี 2556 รัฐมีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพของการศึกษาโดยการปิดและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนน้อยว่า 60 คน โดยที่โรงเรียนอื่นๆ จะได้มีทรัพยากรมากขึ้น อาทิ งบประมาณต่อนักเรียนหรือคุณครูหนึ่งคน ทว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อชุมชนห่างไกลหรือชุมชนชายขอบ จึงเป็นเหตุให้เยาวชนกว่า 200,000 คน และครอบครัวได้รับผลกระทบ จำนวนนักเรียนที่ลาออกจากโรงเรียนกลางคันเพิ่มสูงขึ้น โดยสาเหตุเป็นเพราะค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และความกังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากนักเรียนจากโรงเรียนที่ถูกยุบ-ควบรวม ต้องเดินทางไปยังโรงเรียนใหม่ที่อยู่นอกชุมชนหรือไกลจากชุมชนของตน

ปัจจุบัน นโยบายยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กยังเป็นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ และด้วยความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการศึกษาที่คงยังมีอยู่ โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกปิด หากปัญหานี้ไม่ได้รับการเร่งแก้ไข

ไม่ว่าโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยเชื่อว่าโรงเรียนคือหัวใจของชุมชน เราทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก โดยการเสริมสร้างความรู้ความสามารถของครูและการจัดการการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ นำบริบทและนวัตกรรมการศึกษาต่างๆ เข้ามาปรับใช้ในหลักสูตร เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายโรงเรียนในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ไปจนถึงประเทศ เพื่อเป็นพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

เรายังดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรและผู้มีอำนาจตัดสินใจท้องถิ่น เชื่อมโยงกลุ่มการศึกษาต่างๆ และรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิในการศึกษาที่มีคุณภาพและไม่กีดกันใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไป และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย และเฝ้าติดตามการทำงานของรัฐเพื่อการกระจายอำนาจและทรัพยากรที่แท้จริงในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษา

การส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Active Civil Society for Quality Education of Small Schools หรือ ACCESS School) คือ โครงการระยะเวลา 4 ปี (2563-2566) ที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานโดยสหภาพยุโรป และบริหารโครงการโดย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และสมาคมไทบ้าน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยมุ่งส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษาในชุมชนของตนเอง ผ่านการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง

อ่านต่อ >

การมีส่วนร่วมของเยาวชน

เยาวชนคือตัวแทนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ตลอดช่วยประวัติศาสตร์ทางการเมืองและวัฒนธรรมของไทย พวกเขาเป็นผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ความมุ่งมั่นนี้ต่อเนื่องมาถึงประเด็นปัญหาสังคม และการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ซึ่งจะแสดงออกผ่านการรณรงค์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมด้วยตนเอง หรือผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ

ด้วยความเชื่อในพลังของเยาวชน มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ได้เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานรณรงค์ต่างๆ ที่มุ่งสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น เยาวชนคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ระดับนักศึกษามหาวิทยาลัย ไปจนถึงวัยเริ่มทำงาน จะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ Activista มีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน สิทธิในการศึกษา สิทธิสตรี สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงปัญหาโลกร้อนและความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เราสนับสนุนให้ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่กลุ่มนี้ปลุกพลังนักรณรงค์และนักพัฒนาในตนเอง และมีส่วนร่วมกับงานของมูลนิธิแอ็คชั่นเอ็ด ประเทศไทย ในระดับชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศ

อ่านเรื่องราวล่าสุดจากโครงการการศึกษาและเยาวชน >