มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์แอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล ในการกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเด็ก สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกคือสวัสดิการของเด็ก เพราะหน่วยงานแอ็คชั่นเอดในทุกประเทศปฏิบัติตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กปี 1989 (พ.ศ. 2532) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนปี 1948 (พ.ศ. 2491) ซึ่งทั้งสองฉบับสนับสนุนให้เคารพสิทธิของเด็ก

1. ขอบเขต

นโยบายคุ้มครองเด็กมีผลบังคับใช้กับ:

  • พนักงานของแอ็คชั่นเอดทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ พนักงานชั่วคราว หรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน (พนักงานทุกคนจะต้องปฏิบัติตามนโยบายนี้ตลอดเวลาที่อยู่ในหน้าที่ และควรนำแนวปฏิบัตินี้ไปใช้ในชีวิตส่วนตัวของพวกเขาด้วยเช่นเดียวกัน)
  • ที่ปรึกษา ผู้เข้ามาฝึกงาน อาสาสมัคร สมาชิกคณะกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานพันธมิตรและบุคคล กลุ่มหรือองค์กรอื่นใด ที่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ / ตามสัญญากับแอ็คชั่นเอดที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อกับเด็ก
  • ผู้บริจาค นักข่าว ดารา นักการเมือง และบุคคลอื่นใดที่ติดต่อหรือสื่อสารภายนอกเกี่ยวกับเด็กจะต้องรับรู้ว่านโยบายนี้มีผลบังคับใช้กับพวกเขาและทีมงานในขณะที่เข้าเยี่ยมชมโครงการการทำงานของแอ็คชั่นเอด หรือที่สำนักงานต่างๆ ของแอ็คชั่นเอด

2. นิยาม

เด็ก – บุคคลใดๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 18

การกระทำทารุณเด็ก – การกระทำทารุณเด็กตามคำนิยามที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า
เป็นการใช้กำลังทางกายต่อเด็กโดยเจตนา ซึ่งส่งผลทำให้ / หรือมีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ การอยู่รอด การพัฒนา หรือศักดิ์ศรีของเด็ก โดยการกระทำนี้รวมถึงการทุบตี การซ้อม การเตะ การจับเขย่า การกัด การรัดคอ การลวกด้วยน้ำร้อน การใช้ไฟเผา การวางยาพิษ และการทำให้หายใจไม่ออก มีการกระทำด้วยความรุนแรงทางกายภาพต่อเด็กหลายประเภทที่กระทำเพื่อเป็นการลงโทษเกิดขึ้นในบ้าน

การล่วงละเมิดและการกระทำทารุณทางเพศ– การให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศโดยที่เขาหรือเธอไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการกระทำนั้นอย่างถ่องแท้ ไม่สามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูลและวิจารณญาณ หรือโดยที่เด็กยังไม่มีพัฒนาการที่พร้อม หรือการกระทำอื่นๆ ที่ละเมิดกฎหมายหรือข้อห้ามทางสังคมของสังคมนั้นๆ

เด็กอาจถูกล่วงละเมิดและกระทำทารุณกรรมทางเพศได้ทั้งจากผู้ใหญ่และเด็กคนอื่นๆ (เด็กในที่นี้พิจารณาจากอายุหรือพัฒนาการ) ที่อยู่ในตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้รับความไว้วางใจ หรือมีอำนาจเหนือผู้เป็นเหยื่อ

การกระทำทารุณทางอารมณ์และจิตใจ – ความล้มเหลวของผู้ปกครองหรือผู้ดูแลในการเลี้ยงดูเด็กให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและสนับสนุนพัฒนาการของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเหตุรายครั้ง หรือรูปแบบการกระทำตลอดช่วงเวลาหนึ่ง มีความเป็นไปได้สูงที่การกระทำในหมวดหมู่นี้จะทำลายสุขภาพร่างกายหรือจิตใจของเด็ก หรือพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ คุณธรรม หรือสังคม การกระทำทารุณทางอารมณ์และจิตใจยังรวมถึงการจำกัดการเคลื่อนไหว รูปแบบของการดูหมิ่น กล่าวโทษ ข่มขู่ สร้างความหวาดกลัว เลือกปฏิบัติ หรือถากถางเยาะเย้ย และการกระทำในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางกายภาพ แต่ทำให้รู้สึกว่าได้รับการปฏิเสธหรือถูกกระทำอย่างไม่เป็นมิตร

การทอดทิ้ง – ความล้มเหลวของบิดา-มารดาหรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุรายครั้ง หรือรูปแบบการกระทำตลอดช่วงเวลาหนึ่ง ในการสนับสนุนพัฒนาการและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก ในด้านใดด้านหนึ่ง (หรือมากกว่า) ต่อไปนี้:

  • สุขภาพ
  • การศึกษา
  • การพัฒนาทางอารมณ์
  • โภชนาการ
  • ที่พักพิงและสภาพความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย

3. หลักการ

3.1 ค่านิยมของเรา

มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยมีค่านิยมในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน อาทิ การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียม และความยุติธรรมสำหรับทุกคน เราไม่ยอมต่อการกระทำทารุณเด็กหรือการแสวงผลประโยชน์จากเด็กในรูปแบบใดๆ เด็กที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับแอ็คชั่นเอดจะต้องได้รับการปกป้องจากการกระทำทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ซึ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการกระทำทารุณ การแสวงผลประโยชน์ทางเพศ การบาดเจ็บ การเลือกปฏิบัติ และจากอันตรายอื่นๆ นี่คือมาตรฐานทางจริยธรรมที่เรายึดถือ และเราคาดหวังให้พันธมิตรและผู้จัดซื้อจัดหาที่ร่วมงานกับเราถือปฏิบัติเช่นกัน

3.2 พันธมิตรและผู้จัดซื้อจัดหาที่ร่วมงานกับเรา

พันธมิตรการทำงานของแอ็คชั่นเอดควรปฏิบัติตามนโยบายคุ้มครองเด็กของแอ็คชั่นเอด นโยบายนี้จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงความร่วมมือหรือบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างแอ็คชั่นเอดและพันธมิตร

ด้วยลักษณะของงาน พันธมิตรการทำงานของแอ็คชั่นเอดจะมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือเปราะบาง จึงจะต้องมีความตระหนักถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับเด็ก ข้อมูลเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานในการสืบสวนกรณีต่างๆ เพื่อคุ้มครองเด็ก หรือใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจต่างๆ

ข้อกังวลใดๆ เกี่ยวกับพันธมิตรหรือผู้จัดซื้อจัดหา จะต้องได้รับรายงานต่อตัวแทนแอ็คชั่นเอดในทันที โดยตัวแทนก็จะนำเรื่องไปรายงานต่อผู้อำนวยการสำนักงานประจำประเทศ หรือเลขาธิการองค์การแอ็คชั่นเอด (Secretary General, SG) สำหรับสำนักเลขาธิการระดับโลก (Global Secretariat, GS)

– เมื่อใดก็ตามที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับพันธมิตร ในเรื่องของการละเมิดหรือการเอารัดเอาเปรียบ จะต้องมีการทำบันทึกสถานการณ์และบทสนทนาโดยละเอียด ข้อมูลนี้จะต้องรวบรวมไว้ในบันทึกและเก็บเป็นความลับ โดยบันทึกอาจนำไปใช้เป็นหลักฐานในการช่วยเด็กจากการถูกกระทำทารุณและการแสวงผลประโยชน์

– ข้อกังวลที่เห็นได้จากสุขภาพที่อ่อนแอหรือเสื่อมโทรม บาดแผลหรืออาการบาดเจ็บทางร่างกาย การแสวงผลประโยชน์ทางเพศ กิจกรรมที่เป็นอาญากรรม หรือการคุกคามต่อเด็กจะต้องถูกรายงานไปยังหน่วยงานคุ้มครองเด็กตามกฎหมายหรือหน่วยงานที่เทียบเท่าทันที

4. การดำเนินงาน

4.1 การสรรหาและการคัดเลือก

แอ็คชั่นเอดตระหนักดีว่ากระบวนการสรรหาที่เหมาะสมและวีธีการที่เข้มงวดจะสามารถป้องกันผู้ที่อาจเป็นความเสี่ยงต่อเด็กจากการได้ทำงานได้ และลดความเสี่ยงของการกระทำทารุณเด็กโดยพนักงาน อาสาสมัคร ที่ปรึกษา พันธมิตร หรือผู้จัดซื้อจัดหาได้ เนื้อหาต่อไปนี้ควรสะท้อนอยู่ในกระบวนการสรรหาและคัดเลือก:

– มีรายละเอียดงานและคุณสมบัติจำเพาะที่ชัดเจนสำหรับบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งจะได้รับการประเมินอย่างครบถ้วนระหว่างการคัดเลือก

– พนักงานและอาสาสมัครจะต้องมีเอกสารอ้างอิงสองฉบับจากนายจ้างล่าสุด (หรือโรงเรียน) ของพวกเขา ซึ่งต้องระบุถึงเหตุผลในการออกจากงานด้วย

– ระหว่างการสัมภาษณ์ ควรสอบถามถึงช่วงที่ว่างงานในประวัติการจ้างงาน / การศึกษา

– ทำการยืนยันตัวตนบุคคล

– ทำการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมตามข้อกำหนดทางกฎหมายในท้องถิ่น

โดยทั่วไป การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม / การรับรองความประพฤติจากตำรวจนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเฉพาะเมื่อตำแหน่งงานนั้นๆ มีการเข้าถึงเด็กโดยไม่มีผู้อื่นดูแลเป็นกิจวัตร ดังนั้นหากเป็นไปได้ ควรมีการออกแบบบทบาทหน้าที่ให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีการเข้าถึงเด็กในลักษณะนี้

4.2 การอบรม

ต้องจัดให้มีการอบรมและการอบรมทบทวนที่เหมาะสมและครบถ้วน ให้กับพนักงานและพันธมิตรที่ต้องทำงานโดยตรงกับเด็ก รวมถึงผู้จัดการในสายงานของพวกเขา โดยการอบรมและการอบรมทบทวนมีเนื้อหาตามหัวข้อต่อไปนี้:

– กฎหมายท้องถิ่นเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก การกระทารุณเด็ก การแสวงผลประโยชน์จากเด็ก และการค้ามนุษย์

– รายละเอียดการติดต่อและข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานในพื้นที่

– วิธีสังเกตการกระทำทารุณเด็ก

– วิธีการแจ้งเหตุทารุณเด็ก

4.3 การแจ้งเหตุ

– แอ็คชั่นเอดไม่ใช่หน่วยงานคุ้มครองเด็ก และไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านการตรวจสอบหรือจัดการกับข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำทารุณเด็ก

– ความรับผิดชอบของแอ็คชั่นเอดคือ การดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กปลอดภัย โดยการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจในการดำเนินการหรือสำนักงานอื่นใดตามความเหมาะสม

– หากข้อกล่าวหามีความเกี่ยวข้องกับพันธมิตรแอ็คชั่นเอด ผู้จัดการ / ผู้ประสานงานภายในองค์กรพันธมิตรควรได้รับแจ้งอย่างเหมาะสม

4.4 การปฏิบัติตามนโยบายและการระงับข้อพิพาท

การปฏิบัติตามนโยบายการคุ้มครองเด็กของแอ็คชั่นเอดนั้นเริ่มต้นจากพนักงานของแอ็คชั่นเอด โดยที่ความรับผิดชอบโดยรวมในการตรวจสอบให้องค์กรปฏิบัติตามนโยบายอย่างเต็มรูปแบบนั้นอยู่ที่ผู้อำนวยการสำนักงานประจำประเทศ และที่เลขาธิการสำหรับสำนักเลขาธิการ

การกระทำใดๆ ที่เป็นการละเมิดนโยบายนี้อาจนำไปสู่การลงโทษทางวินัย รวมถึงการยกเลิกสัญญาจ้างได้ ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งใดๆ การตีความของผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและการปฏิบัติการจะถือเป็นที่สิ้นสุดและมีผลผูกพัน

ข้อตกลงความร่วมมือหรือบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับองค์กรพันธมิตรทั้งหมด หรือข้อตกลงของที่ปรึกษาควรมีนโยบายนี้รวมอยู่ในภาคผนวกเมื่อมีการเริ่มโครงการระยะยาวใดๆ หรือเมื่อมีเด็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน สำหรับองค์กรพันธมิตรหรือที่ปรึกษาที่ทำการละเมิดนโยบาย การกระทำนี้จะนำไปสู่การยุติข้อตกลงตามสัญญาและการเป็นพันธมิตรการทำงาน

ข้อบทกฎหมายหรือกรอบการทำงานอื่นๆ ตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ จะมีการอ้างอิงถึงในกรณีที่มีความเกี่ยวข้อง

5. การปรับนโยบายและการทบทวน

ประเทศแอ็คชั่นเอดทุกประเทศต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติตามนโยบายคุ้มครองเด็กของแอ็คชั่นเอด และกฎหมายแรงงานของประเทศที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก การทบทวนนโยบายนี้จะสอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของแอ็คชั่นเอดในระยะเวลาหนึ่งๆ หรือก่อนหน้านั้นหากมีความจำเป็นเร่งด่วน หรือการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหรือทางโครงสร้างในสหพันธ์แอ็คชั่นเอด เอกสารที่ผ่านการตรวจสอบและข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องถูกส่งไปยังคณะผู้นำนานาชาติ (International Leadership Team, ILT) เพื่อขออนุมัติ ก่อนที่จะส่งไปยังคณะผู้นำสหพันธ์ (Federations Leadeship Team, FLT) เพื่อขออนุมัติขั้นสุดท้าย