เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 โครงการแอ็คเซส สคูล (ACCESS School) ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน นำโดยสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย สมาคมไทบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป จัดเวทีสาธารณะ “ฟังเสียงโรงเรียนเล็ก ก้าวใหม่ ไปด้วยกัน” ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษาร่วมสร้างเส้นทางใหม่เพื่อให้โอกาสโรงเรียนขนาดเล็กอยู่กับเด็กและชุมชน
ในงานดังกล่าวประกอบไปด้วยการนำเสนอความสำเร็จของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ใช้นวัตกรรมการเรียนการสอน Active Learning เพื่อยกระดับคุณภาพในบริบทที่ท้าทาย การยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” ของเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กและองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษาต่อกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้แทนรัฐมนตรี ตรีนุช เทียนทอง นอกจากนี้ผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาสังคม และโรงเรียนขนาดเล็กยังร่วมชักธงโรงเรียนขนาดเล็กจำลองขึ้นเสา แสดงถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย คณะทำงานโครงการ ACCESS School กล่าวว่า โครงการฯ ทำงานร่วมกับเครือข่ายการศึกษาโดยสอดรับกับความต้องการของชุมชนยากจนและชายขอบมากที่สุด โดยเฉพาะบริบท ความท้าทาย และคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีความหลากหลายและมีผลกระทบต่อเด็กและชุมชนจำนวนมาก และต้องการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาผ่านการพัฒนาขีดความสามารถของภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็งและสร้างกลไกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับชาติและระดับพื้นที่
“โมเดลโรงเรียนขนาดเล็ก” ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ จะเป็นแผนแม่บทในการสร้างกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน และอยู่บนฐานของนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม ในปีที่ 3 ของโครงการฯ (พ.ศ. 2565) มีเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กที่ปรับใช้นวัตกรรมต้นแบบกับบริบทพื้นที่แล้วกว่า 168 โรงเรียน ก่อเกิดครูแกนนำ ผู้นำสตรีด้านการศึกษา นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนขนาดเล็ก และคณะกรรมการสถานศึกษาที่เข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาใน 8 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และน่าน

ฟรานเชสก้า จิลลี่ ผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายความร่วมมือ สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้สอดคล้องกับคุณค่าที่สหภาพยุโรปยึดมั่น นั่นคือสิทธิของเด็ก สิทธิเด็กเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่สหภาพยุโรปต้องเคารพ คุ้มครอง และรักษา เด็กทุกคนควรได้รับสิทธิอย่างทั่วถึงและสามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงทุกรูปแบบ ถึงแม้ว่าการเข้าถึงการศึกษาจะดีขึ้นในหลายศตวรรษที่ผ่านมา หากพูดถึง “สิทธิในการศึกษาที่มีคุณภาพ” นั้นยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่ต้องเติมเต็ม การทำให้เด็กสามารถไปโรงเรียนได้นั้นไม่เพียงพอหากห้องเรียนยังไม่มีคุณภาพและครูไม่สามารถทำการสอนได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้มากขึ้น
หลักการข้อแรกของเสาหลักด้านสิทธิทางสังคมของสหภาพยุโรป (the European Pillar of Social Rights) เน้นย้ำถึงสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การเข้าถึงการฝึกทักษะ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้บุคคลมีทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่ทำให้ตนสามารถประสบความสำเร็จในตลาดแรงงานและใช้ชีวิตอย่างมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่
สหภาพยุโรปชื่นชมในความมุ่งมั่นและตั้งใจของกระทรวงศึกษาธิการในการบรรลุผลนโยบายการศึกษาถ้วนหน้าตั้งแต่ พ.ศ. 2542 สิ่งนี้ไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายสำหรับรัฐบาลใดก็ตาม แต่ขอให้ท่านทราบว่ากระทรวงไม่ได้ทำงานโดยลำพัง ภาคประชาสังคมที่เห็นในวันนี้พร้อมสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ การสร้างการมีส่วนร่วมจะเป็นกุญแจสำคัญสู่การปฏิรูปการศึกษาที่สัมฤทธิ์ผล เราเชื่อว่าภาคประชาสังคมที่ได้รับการส่งเสริมคือส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งของระบบการปกครองและบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาหรือในภาคส่วนใด

ทางเลือกใหม่ ให้โอกาสโรงเรียนขนาดเล็กอยู่กับเด็กและชุมชน
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย กล่าวว่า ข้อเสนอ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” ได้รับการลงนามโดยเครือข่ายครู ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กและภาคประชาสังคมด้านการศึกษา สภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ เครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา (ภาคกลาง) สมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป.น่าน เขต 1 และโครงการ ACCESS School มีรายละเอียด ดังนี้
- ให้มีการส่งเสริมโครงการ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” เพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าเงื่อนไขหรือเข้าร่วม “โครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน
- ให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนการศึกษา ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการของครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กในการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมการจัดการศึกษา หลักสูตร แผนการเรียนการสอน การวัดผลบนฐานสมรรถนะที่ภาคเอกชน ท้องถิ่น รวมถึงโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้ทดลอง สร้างสรรค์ พัฒนา และดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายการศึกษาชาติทั้งคุณภาพผู้เรียน คุณภาพครู ผู้บริหารและการมีส่วนร่วมของชุมชน และหลักธรรมาภิบาลของโรงเรียนขนาดเล็ก
- เพื่อให้โครงการ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” สามารถปฏิบัติได้อย่างเต็มศักยภาพ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการและองค์กรที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ดังนี้
- ให้เพิ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ “โครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ได้เป็นสถานศึกษาพิเศษ (2) สถานศึกษาที่จัดการศึกษาในเชิงทดลอง วิจัยและพัฒนา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2550
- ให้โรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นโรงเรียนนวัตกรรมสามารถจัดการศึกษาได้ทั้งรูปแบบในระบบ นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตามมาตรา 15 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หรือเทียบเคียงกับการศึกษาตามคุณวุฒิ การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง และการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตในร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่
- ให้แก้ไข-ปลดล๊อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. / เทศบาล / อบต.) สามารถให้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ แก่โรงเรียนขนาดเล็กได้
- สนับสนุนให้ครูชุมชน เช่น ครูภูมิปัญญา สถานประกอบการ ผู้นำศาสนา ฯลฯ สามารถเป็นผู้ครูผู้ช่วยหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและครูได้
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ข้อเสนอ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 นวัตกรรม” สอดคล้องกับนโยบายของ สพฐ. ที่ต้องการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กโดยมีบริบทของพื้นที่เป็นฐาน และการใช้นวัตกรรม Active Learning ขับเคลื่อนอยู่แล้ว พร้อมระบุว่า รัฐไม่มีนโยบายยุบควบรวม โรงเรียนขนาดเล็กที่เข้มแข็งและมีคุณภาพจะอยู่ต่อไป ไม่มีการบังคับยุบหรือควบรวม ส่วนนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลที่มีอยู่นั้นจะรองรับโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ให้มาใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยเป้าหมายคือมีผู้เรียนเป็นสำคัญคือต้องรับการศึกษาที่ดี
ดร.อัมพร กล่าวว่า ตนจะรับข้อเสนอ “1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม” ของเครือข่ายโรงเรียนและภาคประชาสังคมไปนำเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อกำหนดเป็นนโยบายของรัฐ และนำไปเป็นกรอบแนวคิดสำหรับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ เพราะเขตพื้นที่เป็นหน่วยที่อยู่ใกล้โรงเรียนมากที่สุด

โรงเรียนขนาดเล็กเข้มแข็ง ด้วยต้นแบบและเครือข่ายที่เข้มแข็ง
โมเดลที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ ACCESS School เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้นนำนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning มาปรับใช้ตามบริบทของแต่ละโรงเรียนและพื้นที่ โดยมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งทั้งกับโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรม เครือข่ายโรงเรียนระดับจังหวัดและระดับภาค รวมถึงชุมชนเจ้าของโรงเรียนนั้น ๆ ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โมเดลดังกล่าวได้ขยายผลและสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส 168 แห่ง แบ่งเป็น
- ภาคเหนือ ประสบผลสำเร็จ 57 โรงเรียน ขยายผลโดยสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป. น่าน เขต 1โดยมีโรงเรียนแกนนำ 18 โรงเรียน และโรงเรียนขยายผลต่อ 39 โรงเรียน
- ภาคกลาง ประสบผลสำเร็จ 37 โรงเรียน ขยายผลโดยเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา (ภาคกลาง) ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี โดยมีโรงเรียนแกนนำ 6 โรงเรียน และมีโรงเรียนขยายผล 31 โรงเรียน
- ภาคอีสาน ประสบผลสำเร็จ 115 โรงเรียน ขยายผลโดยสมาคมไทบ้านและและสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด โดยมีโรงเรียนแกนนำ 20 โรงเรียน และโรงเรียนขยายผล 95 โรงเรียน
สำหรับนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่เครือข่ายโรงเรียนเหล่านี้รับมาปรับใช้ ได้แก่ จิตศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning / PBL) และชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community / PLC) ซึ่งมีต้นแบบมาจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ และนวัตกรรมเครื่องมือสอนคิด (Thinking Tools) ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จ.เชียงราย
ในเวทีเสวนา “ฟังเสียงโรงเรียนเล็ก ก้าวใหม่ ไปด้วยกัน” ที่ดำเนินขึ้นหลังการมอบข้อเสนอต่อผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนต้นแบบนวัตกรรมและเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กร่วมสะท้อนประสบการณ์ของการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนด้วยนวัตกรรม และการหนุนเสริมโรงเรียนขนาดเล็กให้คงอยู่ได้ผ่านการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม
ดร.ศราวุธ สุตะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน อบจ.เชียงราย ต้นแบบโรงเรียนสอนคิด (Thinking School) กล่าวว่า ก่อนมีนวัตกรรม ผลการประเมินเกณฑ์ต่าง ๆ บ่งชี้ว่ามาตรฐานที่เด็กไทยตกคือเรื่องของการคิด เด็กไม่สามารถคิดไว คิดระดับสูงอย่างวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ และคิดสร้างสรรค์ได้ แต่ตนชื่อว่าเด็กแต่ละคนเก่งคนละด้าน ดังนั้น เมื่อออกแบบโรงเรียน จึงยกเครื่องมือสอนคิดเข้ามา เครื่องมือดังกล่าวมี 10 ชนิดและผู้สอนสามารถใช้เครื่องมือร่วมกับเนื้อหาวิชาการหรือการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียนได้ สิ่งที่พบจากการนำนวัตกรรมมาใช้คือ ผู้เรียนมีภาวะความเป็นผู้นำ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ช่วยเหลือคนเป็น Active Learning ไม่ใช่การร้องเล่นเต้นรำ แต่หมายถึงการเรียนรู้ในวันหนึ่งจะประกอบด้วย ความรู้ (knowledge) ทักษะ (skills) และความคิด (concept) การสอนแบบท่องจำอาจจะได้ผลดีในอดีต แต่วันนี้เด็กต้องเข้าใจ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินค่าได้

บุณฑริก ซื่อสัตย์ ครูโรงเรียนบ้านฮากฮาน จ.น่าน กล่าวว่า การใช้เครื่องมือสอนคิดพัฒนาทั้งเด็กและตัวครู และยังสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูในพื้นที่อื่น ๆ และสร้างกำลังใจให้ตนฐานะครูคนหนึ่ง “ทุกครั้งที่เหนื่อย เราได้คุยกับเพื่อนครูที่ประสบปัญหาเดียวกัน หัวอกเดียวกัน เรารู้สึก empowered มีพลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้มีความสุขและมีกำลังใจที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป”
นอกจากเพื่อนของครู บุณฑริกยังเป็นโค้ชของครู ภายในเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กจังหวัดน่าน เธอได้รับการฝึกฝนให้เป็นวิทยากรสอนคิด เพื่อที่จะขยายผลนวัตกรรมไปในโรงเรียนอื่น ๆ ภายในจังหวัด โรงเรียนบ้านฮากฮานจึงเป็นโรงเรียนแกนนำเพื่อให้โรงเรียนข้างเคียงในตำบลเดียวกันหรือต่างพื้นที่มาศึกษาดูงาน ตลอดจนให้คำปรึกษา “เมื่อเขามาดูโรงเรียนเราก็เห็นเด็ก ๆ และทุกอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เป็นการไม่ต้องพูดให้เสียงดัง แต่ให้การกระทำยืนยันผลสำเร็จของเครื่องมือสอนคิดนี้”
รัตนา บัวแดง ครูโรงเรียนวัดโคกทอง จ.ราชบุรี ซึ่งรับนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC มาใช้ กล่าวว่า นวัตกรรมส่งผลให้โรงเรียนกับชุมชน และเด็ก ครู กับผู้ปกครอง มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เพราะว่านวัตกรรมจิตศึกษา ทำให้ทุก ๆ คนอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่มีศักดิ์ว่ามีความเป็นเด็ก เป็นครู เพราะฉะนั้น ทุกคนสามารถที่จะกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งกิจกรรมจิตศึกษา ครูนำไปใช้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียน ทำให้เด็ก ๆ มีความสนิทสนม กล้าพูดบางเรื่องที่อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะครูจะไม่บอกว่าอันนั้นผิด อันนี้ถูก ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น
รัตนาเสริมว่า สิ่งที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาทำให้โรงเรียนของตนเห็นคือการมีเครือข่าย เพราะโรงเรียนกำลังทำสิ่งที่ต่างจากเพื่อน ทำให้ไม่มีเพื่อนคู่คิด คู่ทำ จนกระทั่งทางลำปลายมาศเชื่อมให้รู้จักกับโรงเรียนวัดอมรวดี จ.สมุทรสงคราม และต่อมามีเพื่อนเป็นโรงเรียนวันมหาราช จ.ราชบุรี โรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ โรงเรียนบ้านหนองขาม จ.นครปฐม และ ต่อ ๆ มาอีกหลายโรงเรียน รวมตัวกันเป็นเครือข่ายโรงเรียน การที่เรามีเครือข่ายทำให้เรามีเพื่อนร่วมคิดร่วมทำ พากันเดิน จูงกันไป จนกระทั่งโรงเรียนวัดโคกทองได้มาเจอมูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล และโครงการ ACCESS School ซึ่งทำให้ได้มาร่วมพัฒนาบุคลากร โรงเรียนขนาดเล็ก และโมเดลการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในเวลาต่อมา
รับชมเวทีสาธารณะ “ฟังเสียงโรงเรียนเล็ก ก้าวใหม่ ไปด้วยกัน” ย้อนหลัง:
ช่วงที่ 1 การยื่นข้อเสนอและคำกล่าวของสหภาพยุโรปและผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ
ช่วงที่ 2 เสวนา “ฟังเสียงโรงเรียนเล็ก ก้าวใหม่ ไปด้วยกัน” โดยวิทยากร วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์, ดร.ศราวุธ สุตะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน อบจ.เชียงราย, พิชญ์สินี ชื่นชูวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ จ.นครปฐม, รัตนา บัวแดง ครูโรงเรียนวัดโคกทอง จ.ราชบุรี, บุณฑริก ซื่อสัตย์ ครูโรงเรียนบ้านฮากฮาน จ.น่าน, ทักษิน เชื้อสูง ผู้อำนวยการโรงเรียนจินดาสินธวานนท์ และอุทัย แก้วกล้า ประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์