สิทธิในการศึกษา
การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการลดความยากจนและความไม่เท่าเทียมในประเทศไทย รัฐธรรมนูญของประเทศไทยรับรองสิทธิเด็กให้เรียนฟรีในช่วง 12 ปีแรก อย่างไรก็ตาม คุณภาพของการศึกษาที่ไม่สม่ำเสมอ และความเท่าเทียมด้านสิทธิในการศึกษายังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง
ในปี 2556 รัฐมีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพของการศึกษาโดยการปิดและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนน้อยว่า 60 คน โดยที่โรงเรียนอื่นๆ จะได้มีทรัพยากรมากขึ้น อาทิ งบประมาณต่อนักเรียนหรือคุณครูหนึ่งคน ทว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อชุมชนห่างไกลหรือชุมชนชายขอบ จึงเป็นเหตุให้เยาวชนกว่า 200,000 คน และครอบครัวได้รับผลกระทบ จำนวนนักเรียนที่ลาออกจากโรงเรียนกลางคันเพิ่มสูงขึ้น โดยสาเหตุเป็นเพราะค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และความกังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากนักเรียนจากโรงเรียนที่ถูกยุบ-ควบรวม ต้องเดินทางไปยังโรงเรียนใหม่ที่อยู่นอกชุมชนหรือไกลจากชุมชนของตน
ปัจจุบัน นโยบายยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กยังเป็นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ และด้วยความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการศึกษาที่คงยังมีอยู่ โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกปิด หากปัญหานี้ไม่ได้รับการเร่งแก้ไข
ไม่ว่าโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยเชื่อว่าโรงเรียนคือหัวใจของชุมชน เราทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก โดยการเสริมสร้างความรู้ความสามารถของครูและการจัดการการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ นำบริบทและนวัตกรรมการศึกษาต่างๆ เข้ามาปรับใช้ในหลักสูตร เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายโรงเรียนในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ไปจนถึงประเทศ เพื่อเป็นพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
เรายังดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรและผู้มีอำนาจตัดสินใจท้องถิ่น เชื่อมโยงกลุ่มการศึกษาต่างๆ และรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิในการศึกษาที่มีคุณภาพและไม่กีดกันใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไป และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย และเฝ้าติดตามการทำงานของรัฐเพื่อการกระจายอำนาจและทรัพยากรที่แท้จริงในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษา
การส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา
โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Active Civil Society for Quality Education of Small Schools หรือ ACCESS School) คือ โครงการระยะเวลา 4 ปี (2563-2566) ที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานโดยสหภาพยุโรป และบริหารโครงการโดย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และสมาคมไทบ้าน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยมุ่งส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษาในชุมชนของตนเอง ผ่านการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง
การมีส่วนร่วมของเยาวชน
เยาวชนคือตัวแทนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ตลอดช่วยประวัติศาสตร์ทางการเมืองและวัฒนธรรมของไทย พวกเขาเป็นผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ความมุ่งมั่นนี้ต่อเนื่องมาถึงประเด็นปัญหาสังคม และการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ซึ่งจะแสดงออกผ่านการรณรงค์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมด้วยตนเอง หรือผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ
ด้วยความเชื่อในพลังของเยาวชน มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ได้เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานรณรงค์ต่างๆ ที่มุ่งสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น เยาวชนคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ระดับนักศึกษามหาวิทยาลัย ไปจนถึงวัยเริ่มทำงาน จะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ Activista มีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน สิทธิในการศึกษา สิทธิสตรี สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงปัญหาโลกร้อนและความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เราสนับสนุนให้ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่กลุ่มนี้ปลุกพลังนักรณรงค์และนักพัฒนาในตนเอง และมีส่วนร่วมกับงานของมูลนิธิแอ็คชั่นเอ็ด ประเทศไทย ในระดับชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศ