ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2564 – 30 มิถุนายน 2565 สหภาพยุโรป ร่วมมือกับ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย จัดตั้งโครงการความมั่นคงทางอาหารโดยมีโรงเรียนและชุมชนเป็นฐาน ภายใต้โครงการอียูรับมือโควิด (EU COVID-19 Response and Recovery Project in Thailand – Nationwide) โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนและชุมชนสามารถผลิตอาหารที่เพียงพอและปลอดภัย มีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นแหล่งรายได้เสริม รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่จะสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายสร้างความยั่งยืนด้านอาหาร โดยมีองค์กรภาคีเครือข่ายในเครือข่ายของโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ACCESS School) ได้แก่ สมาคมไทบ้าน สภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม เครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา เขตภาคกลาง, สมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก จังหวัดน่าน ร่วมดำเนินการคัดเลือกและจัดตั้งโรงเรียนนำร่องแหล่งผลิตอาหารในชุมชน ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 3 ภูมิภาค (ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง) จำนวน 30 แห่ง ดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (10 โรงเรียน) ได้แก่ รร.บ้านหนองตอกแป้นวิทยา, รร.บ้านหนองกุง, รร.บ้านฮ่องทราย, รร.บ้านหนองบัวกุดอ้อ, รร.บ้านโนนเห็ดไค, รร.บ้านหนองบัวคู, รร.ธนบุรีโคกสีหนองเต่าวิทยายน, รร.บ้านหนองแสน, รร.จินดาสินธวานนท์ และรร. คำรงถาวรเจริญวิทย์
ภาคกลาง (9 โรงเรียน) ได้แก่ ร.ร.วัดอุบลวรรณา(นิ่มพิณมุขประชานุกูล), รร.แหลมบัววิทยา, รร.บ้านหนองขาม รร.วัดอมรวดี (อมรวิทยาคาร), รร.วันมหาราช (ผาณิตพิเชฐวงศ์ 1), รร.วัดโคกทอง (ปริปุณอินทรประชาวิทยา), รร.บ้านห้วยรางเกตุ, รร.บ้านห้วยด้วน และรร.วัดหัวโพ (หัวโพประศาสน์วิทยา)
ภาคเหนือ (11 โรงเรียน) ได้แก่ รร.บ้านน้ำมวบ, รร.บ้านป่าสัก, รร.ศรีบุญเรือง, รร.บ้านชมพู, รร.บ้านน้ำลัด, รร.บ้านฟ้า, รร.ชุมชนบ้านหลวง, รร.บ้านสบยาง, รร.ป่าแลวหลวงวิทยา, รร.บ้านหนองบัว และรร.บ้านนาทะนุง
กิจกรรมจะเน้นการฝึกอบรมแบบมีส่วนร่วมกับองค์กรภาคี ชุมชน และโรงเรียนนำร่องทั้ง 30 แห่ง เกี่ยวกับวิธีการผลิตอาหารในชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้จากการวางแผนร่วมกับโรงเรียน และอาสาสมัครชุมชน โดยจะกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความตระหนักถึงความท้าทายของสถานการณ์โรคอุบัติใหม่และภัยพิบัติที่ส่งผลต่อวิถีชีวิต ตลอดจนวิธีการจัดหาอาหาร หลังจากการฝึกอบรมจะมีการสนับสนุนหน่วยผลิตอาหารที่มีโรงเรียนเป็นฐานการผลิตในรูปแบบเกษตรพอเพียง เช่น แปลงผักสวนครัวท้องถิ่น การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ไข่ รวมถึงให้การสนับสนุนอื่น ๆ ตามความต้องการของโรงเรียนและชุมชน ทั้งนี้ โรงเรียนจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนจัดหาพื้นที่ในการเพาะปลูก ในขณะที่สมาชิกชุมชน อาสาสมัครหมู่บ้าน และนักเรียนจะเป็นตัวแปรสำคัญในการนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้ในชุมชนต่อไป ซึ่งการประเมินผลจะมีทั้งการติดตามรายงานความก้าวหน้า และการลงพื้นที่ติดตาม รวมถึงหนุนเสริมโรงเรียนเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดทักษะด้านความมั่นคงทางอาหารที่จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถพึงพาตนเองได้ในภาวะวิกฤตอย่างยั่งยืน
รูปภาพประกอบเพิ่มเติม: Link (เครดิต: มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย)
เกี่ยวกับโครงการอียูรับมือโควิด
สหภาพยุโรป ให้การสนับสนุนมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และองค์กรภาคประชาสังคม เปิดตัวโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยงบประมาณ 2.6 ล้านยูโร หรือประมาณ 90 ล้านบาท โดยมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มความสามารถและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมของไทย ที่จะช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของกลุ่มประชากรเปราะบางที่สุดในประเทศ ทั้งสองโครงการมีระยะเวลาการดำเนินงานเป็นเวลา 2 ปี และปฎิบัติงานโดยภาคีขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย โดยมีส่วนประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด การฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนโดยการพัฒนาการดำรงชีพของชุมชนที่ได้ผลกระทบให้ดีขึ้น และการสร้างความสามารถในการยืดหยุ่นของชุมชนในการรับมือวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
องค์กรหลักในการดำเนินงานของโครงการระดับประเทศคือ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย โดยร่วมกับองค์กรภาคี อีก 10 องค์กร โดยมีพื้นที่ในการปฏิบัติงานในเกือบ 40 จังหวัด และจะทำงานกับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ เช่น แรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบ เด็ก และประชาชนชายขอบ ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้เป็นผู้หญิง
เกี่ยวกับสหภาพยุโรปในประเทศไทย (European Union in Thailand)
สหภาพยุโรป (อียู) เป็นการรวมตัวในลักษณะสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในทวีปยุโรป มีสมาชิกในปัจจุบันจำนวน 27 ประเทศ ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันสร้างภูมิภาคที่มีความมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก เปิดกว้างในการยอมรับซึ่งกันและกัน และเคารพเสรีภาพของประชาชน ในปี 2555 (ค.ศ. 2012) สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสมานฉันท์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในยุโรป
สหภาพยุโรปเป็นสมาคมทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นแหล่งทุนและเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่มูลค่าการให้ความช่วยเหลือรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั้งโลก
เกี่ยวกับแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand)
มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2544 เราคือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นให้ประชากรที่ประสบความยากจนและการกีดกันทางสังคม พัฒนาศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชน เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของตน เราเชื่อในพลังของผู้คนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อตนเองและสังคม เราจึงสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกกีดกันทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิง เยาวชน และคนยากจน ตระหนักถึงศักยภาพของตน เข้าใจในสิทธิ์ที่ตนพึงจะมี และใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
เราทำงานเป็นพันธมิตรร่วมกับชุมชน องค์กรประชาสังคม กลุ่มและเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม สถาบันการศึกษาและการวิจัย หน่วยงานรัฐในระดับต่างๆ สื่อ ฯลฯ และขยายผลโครงการของเราในระดับท้องถิ่น การจับมือกับพันธมิตรและรวมพลังเป็นหนึ่ง เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่เคยถูกละเลยและกีดกัน สามารถนำเสนอประเด็นปัญหาของพวกเขา เข้ามารณรงค์ ขับเคลื่อนนโยบาย และสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ชอบธรรม และยั่งยืน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
สุริยะ ผ่องพันธุ์งาม (เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารโครงการอียูรับมือโควิด)
อีเมล suriya.phongphunngam@actionaid.org
โทร 0631931556
Infographic: https://actionaid.or.th/eu-covid-19-response-recovery
Facebook: โครงการอียูรับมือโควิด EU Covid-19 Response and Recovery Project
Instagram: @eucovid19response_thailand
YouTube: อียูรับมือโควิด