ระหว่างวันที่ 21-22 เมษายน 2565 มูลนิธิชุมชนไท ร่วมกับ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) และภาคีในเครือข่ายอื่น ๆ จัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติ และโรคอุบัติใหม่ สู่ความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบายและแก้ไข กฎหมายภัยพิบัติ ณ โรงแรมดอนเมืองแอร์พอร์ต (ไมด้า) โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอพื้นที่ในการจัดการภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่โดยชุมชน สู่การเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนของภาคี ซึ่งเป็นความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน และนำสิ่งที่ได้ไปนำเสนอต่อสาธารณะ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในพื้นที่ต่าง ๆ จนนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย กระบวนการแก้ไข กฎหมาย และวางแผนขับเคลื่อนในการจัดการภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ร่วมกัน

ที่ผ่านมามูลนิธิชุมชนไทได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาคีในการขับเคลื่อนการจัดการภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ในพื้นที่ทั่วประเทศ จนมีข้อสรุปร่วมกันว่า การจัดการและการป้องกันภัยพิบัติ อย่างน้อยต้องมีนโยบายและกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชนในการจัดการ ซึ่งรัฐและราชการส่วนภูมิภาคมีบทบาทในการสนับสนุนให้การบริหารจัดการได้ทันท่วงที เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายและแก้ไขกฎหมายภัยพิบัติขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จากบทเรียนการดำเนินงาน ในการจัดการภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ในหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมไปถึงข้อเรียกร้องในการให้การสนับสนุนหนุนเสริมการทำงาน และแก้ไข จึงได้จัดให้มีเวทีเสวนานี้ขึ้น

วันที่ 21 เมษายน 2565 อรุณศิริ โพธิ์ทอง ผู้บริหารโครงการ สหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย เป็นเกียรติกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาเปิด “บทเรียน-ชุมชนสู่การขับเคลื่อนนโยบายการจัดการภัยพิบัติ” โดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ประธานมูลนิธิ-ชุมชนไท จากนั้นจึงมีการนำเสนอ “บทเรียนและความท้าทายการจัดการภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่โดยชุมชน” ใน 10 พื้นที่ รวมไปถึงการเปิดเวทีเสวนา “ความร่วมมือการขับเคลื่อนชุมชนรับมือภัยพิบัติโดยนโยบายและกฎหมายภัยพิบัติ” โดย ประธานกรรมาธิการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม และผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท

ในวันที่ 22 เมษายน 2565 เวทีเสวนาได้เน้นการกระบวนการ “พัฒนาหลักสูตร พัฒนาคนจัดการภัยพิบัติ” และ “ข้อบัญญัติท้องถิ่น สู่การจัดการภัยพิบัติชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” นำโดยผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทา-สาธารณภัย ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รองคณบดีคณะ-วิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เครือข่ายภัยพิบัติชุมชน เครือข่ายชาวเล และเครือข่ายการคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น

รูปภาพประกอบเพิ่มเติม: Link

เกี่ยวกับโครงการอียูรับมือโควิด

สหภาพยุโรป ให้การสนับสนุนมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และองค์กรภาคประชาสังคม เปิดตัวโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยงบประมาณ 2.6 ล้านยูโร หรือประมาณ 90 ล้านบาท โดยมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มความสามารถและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมของไทย ที่จะช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของกลุ่มประชากรเปราะบางที่สุดในประเทศ ทั้งสองโครงการมีระยะเวลาการดำเนินงานเป็นเวลา 2 ปี และปฎิบัติงานโดยภาคีขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย โดยมีส่วนประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด การฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนโดยการพัฒนาการดำรงชีพของชุมชนที่ได้ผลกระทบให้ดีขึ้น และการสร้างความสามารถในการยืดหยุ่นของชุมชนในการรับมือวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

องค์กรหลักในการดำเนินงานของโครงการระดับประเทศคือ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย โดยร่วมกับองค์กรภาคี อีก 10 องค์กร โดยมีพื้นที่ในการปฏิบัติงานในเกือบ 40 จังหวัด และจะทำงานกับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ เช่น แรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบ เด็ก และประชาชนชายขอบ ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้เป็นผู้หญิง

เกี่ยวกับสหภาพยุโรปในประเทศไทย (European Union in Thailand)

สหภาพยุโรป (อียู) เป็นการรวมตัวในลักษณะสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในทวีปยุโรป มีสมาชิกในปัจจุบันจำนวน 27 ประเทศ ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันสร้างภูมิภาคที่มีความมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก เปิดกว้างในการยอมรับซึ่งกันและกัน และเคารพเสรีภาพของประชาชน ในปี 2555 (ค.ศ. 2012) สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสมานฉันท์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในยุโรป

สหภาพยุโรปเป็นสมาคมทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นแหล่งทุนและเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่มูลค่าการให้ความช่วยเหลือรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั้งโลก

เกี่ยวกับแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand)

มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2544 เราคือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นให้ประชากรที่ประสบความยากจนและการกีดกันทางสังคม พัฒนาศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชน เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของตน เราเชื่อในพลังของผู้คนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อตนเองและสังคม เราจึงสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกกีดกันทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิง เยาวชน และคนยากจน ตระหนักถึงศักยภาพของตน เข้าใจในสิทธิ์ที่ตนพึงจะมี และใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

เราทำงานเป็นพันธมิตรร่วมกับชุมชน องค์กรประชาสังคม กลุ่มและเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม สถาบันการศึกษาและการวิจัย หน่วยงานรัฐในระดับต่างๆ สื่อ ฯลฯ และขยายผลโครงการของเราในระดับท้องถิ่น การจับมือกับพันธมิตรและรวมพลังเป็นหนึ่ง เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่เคยถูกละเลยและกีดกัน สามารถนำเสนอประเด็นปัญหาของพวกเขา เข้ามารณรงค์ ขับเคลื่อนนโยบาย และสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ชอบธรรม และยั่งยืน


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

สุริยะ ผ่องพันธุ์งาม (เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารโครงการอียูรับมือโควิด)
อีเมล suriya.phongphunngam@actionaid.org
โทร 0631931556

Infographic: https://actionaid.or.th/eu-covid-19-response-recovery
Facebook: โครงการอียูรับมือโควิด EU Covid-19 Response and Recovery Project
Instagram: @eucovid19response_thailand
YouTube: อียูรับมือโควิด