เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงนโยบายการศึกษาต่อผู้บริหารการศึกษาทุกสังกัดในส่วนภูมิภาค และมีการถ่ายทอดสดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไปร่วมรับฟัง

จากการรับฟังนโยบายของท่านรัฐมนตรีฯ ขอชื่นชมว่าท่านมีความตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาการศึกษา ขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาไทยแม้ว่าท่านจะไม่ได้มาจากสายการศึกษาโดยตรงก็ตาม หากดูจากภาพรวมของนโยบายที่เป็นจุดเน้น มีไฮไลท์ที่น่าสนใจ 4-5 ประการ เช่น แนวคิดจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน (แสดงถึงการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม) เรียนดีมีความสุข (ให้ความสำคัญความสุขของผู้เรียนไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ) เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา การ Coaching แนะแนวการศึกษา และการเทียบโอน เป็นต้น แต่น่าเสียดายที่จุดเน้นเกี่ยวกับการลดภาระครู และลดภาระนักเรียนยัง “เกาไม่ถูกที่คัน” หรือยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาของครู โรงเรียน และนักเรียนที่ป่วยเรื้อรังมานานจากนโยบายและโครงสร้างระบบการศึกษา ซึ่งผู้ปกครอง คนในวงการศึกษาและประชาชนเรียกร้องให้มีการปฎิรูปมาโดยตลอดกว่า 10 ปี

“เรียนดี มีความสุข” ท่านใช้คำได้ดี ภายใต้บทนำ ท่านกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นประเด็นสำคัญ และภายใต้นโยบายดังกล่าว มีจุดเน้นสำคัญ 2 ประการที่จะขับเคลื่อน คือ การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระเด็กและผู้ปกครอง แต่ท่านไม่ได้กล่าวถึงปมปัญหาที่มีอยู่จริงในปัจจุบันและเชื่อมโยงกับประเด็นอื่น ๆ ซึ่งก็คือ “โรงเรียนขนาดเล็ก” และ “การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทย รวมถึงการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 4 (สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all) ที่ยังไม่ชัดเจนในนโยบาย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและคุณภาพการศึกษา

ปัจจุบัน โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนมากกว่า 50% ของโรงเรียนในระบบทั้งหมด ซึ่งสอดรับกับข้อมูลสถิติประชากรแรกเกิดใหม่ของสังคมไทยที่ลดลงทุกปี ยิ่งมีเด็กน้อย โรงเรียนต่างมีแนวโน้มมีขนาดลดลง ทว่า การมีอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่ปัญหา ที่เป็นปัญหาคือคุณภาพการศึกษา แต่ก็มีตัวอย่างมากมายที่โรงเรียนขนาดเล็กมีที่มีครูไม่พอ ครูไม่ครบชั้นหรือสอนไม่ตรงเอก แต่สามารถพัฒนาคุณภาพตัวเองได้ทุกด้าน ทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคใหม่ โดยไม่ต้องยุบหรือไปควบรวมกับโรงเรียนอื่น ในนโยบาย ดูเหมือนท่านจะยังคงเน้นการพัฒนาโรงเรียนขนาดใหญ่ตามนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามระบบการศึกษากระแสหลักและตามระบบนิเวศการเรียนรู้แบบเดิม ซึ่งยังไม่สอดคล้องและเท่าทันกับบริบทของระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ของสังคมไทยและสังคมโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว

จับมือและไปด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อนโยบายเรื่องการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังไม่ตรงจุดของปัญหาเท่าที่ควร เพราะควรปลดล็อกนโยบายที่จำกัดการพัฒนา อย่างเงินอุดหนุนรายหัว การจัดสรรค่าสาธารณูปโภค และจัดสรรบุคลากรครูและผู้บริหารที่ยึดตามจำนวนหัวนักเรียน เพราะไม่เป็นธรรมกับนักเรียนและครูโรงเรียนขนาดเล็ก ควรมีแนวทางและวิธีการจัดสรรทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมแนวทางใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนจะดีกว่า รวมถึงนโยบายแจกแท็บเล็ตให้ครูซึ่งยังเกาไม่ถูกที่คัน ควรเปลี่ยนมาเป็น “คืนครูให้เด็ก คืนผอ.ให้โรงเรียน คืนโรงเรียนให้ชุมชน” น่าจะดีกว่า ซึ่งเป็นการคืนสิทธิในการเรียนรู้ให้เด็ก และคืนโรงเรียนให้กับชุมชน (การ “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน”) ตลอดจนถึงคำสั่งการในการปฏิบัติตามนโยบายยังไม่ได้กล่าวถึง ปัญหาของโครงการและการฝึกอบรมจากส่วนกลางและองค์กรต้นสังกัดต่าง ๆ ที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของครูและโรงเรียนที่มอบหมายลงมาเป็นจำนวนมาก กลายเป็นภาระงานที่กระทบต่อเวลาการจัดการเรียนการสอน นโยบายควรให้ความสำคัญและความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น เอกชนและภาคประชาสังคมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาโรงเรียนซึ่งเป็นฐานที่มั่นคงของชุมชน โดยมาช่วยให้คำว่า “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ให้เป็นรูปธรรมที่หลากหลายมากขึ้น แม้กระทั่งเรื่องนักศึกษาครูฝึกสอน ควรมีนโยบายปลดล็อกนักศึกษาครู ให้สามารถไปฝึกสอนโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครูได้แม้ว่าไม่มีครูพี่เลี้ยงตรงเอก นอกจากโรงเรียนจะได้ครูผู้สอนเพิ่มขึ้นได้แล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังได้ครูผู้สอนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ เข้าใจปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และมีทักษะในการบูรณาการหลักวิชาและนวัตกรรมการเรียนการสอนแบบใหม่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นโยบายของกระทรวงยังไม่ได้กล่าวถึงปัญหาของหลักสูตรแกนกลางที่มีเยอะมากเกินไป ซึ่งปัจจุบันไม่เหมาะสมแล้ว เพราะบางวิชานักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รวมถึงที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนบนฐานสมรรถนะแบบมีส่วนร่วมผ่านการปฏิบัติ หรือ Active Learning แต่นโยบายไม่ได้กล่าวถึงอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน การเรียนรู้บนฐานสมรรถนะเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่และการเรียนรู้ตลอดชีวิต หากนโยบายของรัฐบาลนี้ทิ้งการเรียนการสอนแบบ Active Learning หรือไม่ให้ความสำคัญ ระบบการศึกษาไทยก็จะวนกลับไปอยู่ในลูปเดิม ๆ ซึ่งเป็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

Learning Loss จากโควิด-19 และผู้เรียนนอกระบบ

นโยบายไม่ได้กล่าวถึงภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning loss) ที่เกิดขึ้นในวงกว้างจากผลกระทบของโควิด-19 ภาวะดังกล่าวต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องและมองผู้เรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น การเปิดเรียนปกติด้วยหลักสูตรการสอนที่ไม่รองรับจุดนี้และไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนที่มีความต้องการแตกต่างกัน ซ้ำหลายโรงเรียนยังเจอปัญหาครูไม่พอ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งช่วงโควิดและหลังจากนั้นมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ หากรูปแบบการเรียนการสอนไม่ปรับให้ตอบโจทย์ตรงหน้า จะยิ่งส่งผลให้มีเด็กหลุดออกไปมากขึ้นเพราะเรียนไม่ทัน ไม่ต่อเนื่อง ไม่มีแรงบันดาลใจ ส่งผลต่อทักษะในการเรียนต่อและมีงานทำต่อไป

เห็นด้วยกับนโยบายการเปิดสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Any Time) การเทียบโอนความรู้จากประสบการณ์ และนโยบายสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank) แม้นโยบายเหล่านี้บางอย่างจะเป็นสิ่งรัฐบาลก่อน ๆ ทำมาบ้างแล้ว การพัฒนาต่อยอดเป็นสิ่งที่ดี และหากจะให้ดียิ่งขึ้นควรเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคส่วนต่าง ๆ หากจะทำสิ่งใหม่และเป็นประโยชน์กับเด็กนอกระบบซึ่งเป็นเด็กที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ตกหล่น หรือออกจากระบบการศึกษาปกติ รวมถึงกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่เปราะบางทางเศรฐกิจและสังคมในโรงเรียนปกติแต่มีแนวโน้มหลุดจากระบบการศึกษา (มีจำนวนรวมกว่า 4.6 ล้านคน จากข้อมูลรายงานวิจัยของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปี 2562) ท่านรัฐมนตรีควรเพิ่มนโยบายปลดล็อกการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยมาตรา 12 หรือการศึกษาทางเลือกของสถาบันสังคม (การจัดการศึกษาโดยครอบครัวและโดยศูนย์การเรียน) ซึ่งปัจจุบันกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และควรศึกษาพัฒนานโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้านการศึกษา (Education Card)” (รายละเอียดข้อเสนอนโยบายการศึกษาในงานวิจัย “องค์ความรู้การศึกษาทางเลือกของสังคมไทย กับแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”) เป็นกลไกสนับสนุนให้เด็กสามารถเลือกเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพที่สนใจได้ด้วยตนเอง รวมถึงเห็นด้วยกับ การ Coaching แนะแนวการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ค้นพบในสิ่งที่ตนเองต้องการได้เร็วขึ้น แต่กังวลเรื่องของการจัดการในแต่ละพื้นที่และความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแล ว่าจะนำไปปฏิบัติให้สำเร็จตามเป้าหมายของนโยบายอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร

เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) คณะทำงานโครงการ ACCESS School ณ เวที “ชวนพรรคร่วมคิดฟื้นชีวิตเรียนรู้ใหม่ หมุนเด็กไทยก้าวทันโลก” 5 มีนาคม 2566

1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ไม่ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ

นโยบายนี้จะเป็นการเพิ่มมากกว่าลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากนโยบายนี้คิดบนฐานของนโยบายการยุบ-ควบรวมโรงเรียนเล็กที่เสนอโดยธนาคารโลก และจะเป็นมาตรการมารองรับและสานต่อนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล (1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ) ของอดีตรมต.ศธ. การขับเคลื่อนนโยบายนี้ นอกจากจะทำให้ทรัพยากรและงบประมาณกระจุกตัวอยู่ที่บางโรงเรียนแล้ว หากควบคู่ไปกับการยุบ-ควบรวม จะยิ่งส่งผลให้สถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็กจะแย่ลงไปอีก และเป็นการจำกัดสิทธิทางการศึกษาของเด็กโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะจะมีเด็กจากครอบครัวกลุ่มเปราะบางและไม่พร้อมเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลและอำเภอได้ อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเร็วขึ้น เป็นสิ่งที่น่ากังวลที่ท่านยังไม่มีนโยบายให้กับโรงเรียนขนาดเล็กได้มีทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งตอนนี้มีตัวอย่างแล้วหลายโรงเรียนที่ทำได้แม้ว่านโยบายของต้นสังกัดยังไม่สนับสนุนอย่างจริงจังเท่าที่ควร ดังนั้นอยากเรียกร้องให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องการพัฒนาคุณภาพด้วยตนเองและไม่ต้องการยุบควบรวมส่งเสียงให้ดังมากขึ้น และให้ทางกระทรวงและรัฐรับฟังเสียงเรียกร้องเพื่อการพิจารณาและสนับสนุนนโยบายให้โรงเรียนขนาดเล็กมีทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพตนเองมากขึ้น

ถึงกระนั้น ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กอีกจำนวนมากที่ต้องการการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน ปัญหาใหญ่ที่พวกเขาเจอคือขาดผู้บริหาร และครูไม่พอ (เมื่อผอ.และครูเกษียณข้าราชการแล้ว ไม่มีการจัดสรรบุคลากรใหม่เข้ามาทดแทน) อีกสาเหตุที่ครูขาดคือนโยบายถูกคิดบนฐานหลักสูตรแกนกลาง 8 สาระวิชา และการจัดสรรบุคลากรต่อหัวตามจำนวนนักเรียน สิ่งเหล่านี้ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กต้องดิ้นรนหาทางออกเองให้ตรงตามบรรทัดฐานที่สพฐ. วางไว้ หากหลักสูตรแกนกลางมีไม่มากและให้สิทธิโรงเรียนในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทของชุมชนได้ ก็จะแก้ปัญหาส่วนนี้ได้ และหากครูมีอิสระในการสอน ได้รับการยกระดับทักษะการสอนแบบบูรณาการ จะช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กปรับแผนการสอนและทำได้อย่างมีคุณภาพท่ามกลางข้อจำกัดได้

อีกประการหนึ่งคือค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ) ยังรวมอยู่ในงบเงินอุดหนุนรายหัวเด็ก ซึ่งไม่เป็นธรรมกับโรงเรียนขนาดเล็กเพราะเงินอุดหนุนรายหัวแต่ละเดือนเมื่อหักค่าใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคแล้วจะเหลือไม่มากพอในการนำมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่โรงเรียนต้องการได้ นอกจากนี้ ยังพบกรณีเด็กที่ไปเรียนรวมในโรงเรียนแม่เหล็ก (โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล) ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ เนื่องด้วยอุปสรรคจากวิถีชีวิตของเด็กและครอบครัวที่เปลี่ยนไป (ตื่นเช้า กลับค่ำ เดินทางไกลขึ้น เป็นต้น) และสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ไม่คุ้นเคย หรือมีบรรยากาศของการแข่งขัน ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนของเด็กลดลง และเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษามีแนวโน้มจะเร็วมากขึ้นกว่าเดิม

อีกหนึ่งข้อท้าทายของโรงเรียนขนาดเล็ก คือ ครูไม่กล้าที่จะส่งเสียงหรือช่วยชี้ปัญหาที่มีอยู่ ไม่กล้าแตะเรื่องนโยบาย เนื่องจากอำนาจการโยกย้าย การเลื่อนขั้นเป็นการรวมศูนย์ และขาดการถ่วงดุลอย่างเป็นธรรม รวมถึงการประเมินวิทยฐานะต่างๆของครู แม้ว่าตัวชี้วัดปัจจุบันคือให้วัดผลคุณภาพนักเรียนแต่การประเมินคุณภาพนักเรียนคือใช้การวัดจากผลการทดสอบระดับชาติซึ่งหลักสูตรเดียวใช้ทั่วประเทศ ครูและผู้บริหารในโรงเรียนขนาดเล็กจึงพบความยากลำบากในการบริหารจัดการ สุดท้ายปัญหาก็จะวนลูปเดิม ฝังรากลึกขึ้น และไม่สามารถแก้ได้ง่าย ๆ

ทิ้งท้ายถึงรัฐมนตรี

ขอให้ท่านให้ความสนใจโรงเรียนขนาดเล็กที่พยายามพัฒนาตนเองหรือโรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ด้วยตนเอง (Stand Alone) ซึ่งมีทั้งโรงเรียนที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น อยู่บนภูเขา ชายแดน เกาะแก่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เดินทางยากลำบาก ฯลฯ รวมถึงโรงเรียนขนาดเล็กที่ครู ผู้ปกครองและชุมชน ต้องการให้เปิดสอนต่อไป ควรมีนโยบายและมาตรการในการเข้าไปสนับสนุน เนื่องจากโรงเรียนกลุ่มนี้พร้อมที่จะพัฒนาตนเอง และจะเป็นการลดภาระของกระทรวงศึกษาธิการได้ด้วย หากพิจารณาจากประชากรแรกเกิดจะพบว่าจะไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของโรงเรียนขนาดเล็กได้ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 50% ของโรงเรียนทั้งหมดแล้ว อีกทั้งการยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้าสู่โรงเรียนแม่เหล็กไม่ใช่ตัวชี้วัดหรือหลักประกันว่าจะทำให้นักเรียนมีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับโรงเรียนขนาดเล็ก พัฒนาคุณภาพให้เป็นโรงเรียนของชุมชน และดึงพลังของชุมชน ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กให้คงอยู่ได้โดยไม่ต้องยุบควบรวมหรือให้เด็กไปเรียนไกลชุมชนของตน อาจมีการเปิดโอกาสมาตรการทางภาษีให้องค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กด้วย

นอกจากนี้ ขอให้ท่านรัฐมนตรีให้ความสำคัญและมีนโยบายที่จะปลดล็อกการศึกษานอกระบบที่เป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของสถาบันทางสังคมตามมาตรา 12 เช่น ศูนย์การเรียนโดยบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน สถานประกอบการ และการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Home School) เป็นต้น ซึ่งยังไม่ได้รับการสนับสนุนและรับสิทธิประโยชน์ทางการศึกษาใด ๆ ตามกฎหมายจากรัฐเลย (ยกเว้นศูนย์เรียนโดยสถานประกอบการ) ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนรายหัว อาหารกลางวัน อาหารเสริม (นม) เครื่อแบบ สิทธิการเรียนรด. แบบเรียน อุปกรณ์ทางการศึกษา สัญญาณอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ที่ผ่านมาสถานศึกษานอกระบบดังกล่าวสามารถรองรับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและเด็กกลุ่มเปราะบางได้ ลดภาระของกระทรวงศึกษาไปได้มาก

หากรัฐสามารถมองว่าการศึกษานอกระบบ การศึกษาทางเลือกของสถาบันสังคม และโรงเรียนขนาดเล็กที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นจุดแข็งและกลไกสำคัญของระบบการศึกษาไทยในการทำให้การทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ กลุ่มคนที่ยากจนและเปราะบางที่สุดเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน สิ่งนี้จะตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยิ่ง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4 ที่ยังไม่ถูกกล่าวถึงในเชิงนโยบาย แต่ไทยมีพันธกิจร่วมกับประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติในการบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 และไม่ใช่แค่เป้าหมายที่ 4 เรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงและทำไปพร้อมกันกับเป้าหมายอื่น ๆ เช่น 1 การขจัดความยากจนทุกรูปแบบ, 5 การบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ, 8 การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน และ 10 การลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ

 


โดย เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) ผู้ประสานงานโครงการ ACCESS School

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

บุรัสกร กิติพจน์นพรัตน์ (ผู้ช่วยฝ่ายสื่อสารโครงการ ACCESS School)
อีเมล: burassakorn.gitipotnopparat@actionaid.org
Facebook: https://www.facebook.com/access.school.project