เพื่อดำเนินเป้าหมายในการสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มคนที่ถูกลืมและได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำ สำหรับภารกิจด้านการศึกษาและเยาวชน มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ร่วมมือกับสภาการศึกษาทางเลือกไทย และสมาคนไทบ้าน ในโครงการ ACCESS School ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท ผ่านการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษาในชุมชนของตนเองและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ
ตั้งแต่ปี 2556 กระทรวงศึกษาธิการเริ่มมีนโยบายแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน นั่นคือการยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำว่า 60 คน หรือควบรวมเข้ากับโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ว่าที่อยู่ในรัศมี 6 กิโลเมตร จุดมุ่งหมายของนโยบายนี้คือการรวบรวม จัดสรรทรัพยากรและงบประมาณเพื่อการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทว่า สิ่งที่แนวนโยบายไม่ได้ให้ความสำคัญคือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับนักเรียนและครอบครัว 2 แสนกว่าครอบครัว ที่หลาย ๆ บ้านไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อต้องส่งลูกหลานไปโรงเรียนที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งสิ่งนี้จำกัดการเข้าถึงการศึกษาของลูกหลานของพวกเขา
ดิฉันมีโอกาสได้เดินทางไปยังจังหวัดมหาสารคาม หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของโครงการนี้ ร่วมกับมูลนิธิแอ็คชั่นเอดฯ ประสบการณ์ที่มหาสารคามครั้งนี้ทำให้เห็นวิธีที่โรงเรียนขนาดเล็กใช้เพื่อทำให้พวกเขายังคงอยู่หลังจากรัฐมีนโยบายข้างต้น เราไปยังโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก 3 โรงเรียนและแต่ละที่ก็เป็นประสบการณ์ที่ต่างกันออกไป หนึ่งในโรงเรียนเหล่านี้คือโรงเรียนบ้านหนองบัวคู อำเภอนาดูน ซึ่งมีนักเรียนเพียง 42 คน สิ่งที่น่าสนใจคือการมีส่วนร่วมของชุมชนกับโรงเรียนในระดับที่สูงมาก ชาวบ้านสละเวลามาสนับสนุนโรงเรียนในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การเป็นครูพี่เลี้ยง แม่ครัว ไปจนถึงการทำเกษตร เรายังพบคุณยายท่านหนึ่งขณะที่ท่านกำลังกวาดใบไม้บนทางเดิน ท่านบอกว่าที่อาสามาช่วยทำความสะอาดโรงเรียนนั้นเพราะอยากให้เด็ก ๆ อยู่ในพื้นที่ที่สะอาดและสวยงาม
ขณะเดียวกัน ประสบการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้เห็นความท้าทายที่ทุกโรงเรียนประสบ นั่นคือปัญหาขาดแคลนครู เห็นได้ชัดจากการที่ครูคนหนึ่งมักจะต้องสอนหลายวิชา และสอนนักเรียนควบชั้นกัน
แต่ในทุกความท้าทายคือเรื่องราวที่โรงเรียนขนาดเล็กต่อสู้เพื่อคงอยู่ต่อไป แม้จะพบปัญหาดังกล่าว เราก็เห็นการพัฒนาด้านการสอนหลังจากที่โรงเรียนได้ปรับใช้หลักการ Active Learning เข้ากับหลักสูตร Active Learning คือกระบวนการที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับขั้นตอนการเรียนรู้ โดยผ่านทั้งการพูดคุยแลกเปลี่ยนและการประยุกต์ใช้ความรู้ของตนผ่านการปฏิบัติ ซึ่งจะเอื้อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากกันและกันด้วย คุณครูโรงเรียนบ้านหนองบัวคูได้ปรับใช้นวัตกรรมและแนวคิดต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่แทนการสอนแบบท่องจำผ่านหนังสือ การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ผู้เรียนตื่นตัว มีส่วนร่วมในคาบเรียน และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเองมากขึ้น หลักสูตรของโรงเรียนยังปรับใช้หลักการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอนผู้เรียนให้มีทักษะชีวิตสำคัญอย่างการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ การเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ลงมือทำและมีส่วนร่วมแบบนี้ทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสพัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์และมีมุมมองเป็นของตนเอง
นอกจากการเรียนรู้แบบ Active Learning นอกห้องเรียน หลักสูตรของโรงเรียนบ้านหนองบัวคูยังได้รับโมเดลของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามาใช้ โมเดลดังกล่าวที่มีนวัตกรรม “จิตศึกษา” เป็นตัวนำนั้น ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภายในของเด็ก ทั้งด้านอารมณ์ สังคม และความฉลาดทางจิตวิญญาณ นอกจากนี้ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน เมื่อกรอบการเรียนรู้ได้ปรับใช้หลักการเหล่านี้เข้าไป ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์เรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งมากไปกว่าความรู้เชิงวิชาการ
เรามีโอกาสสัมภาษณ์ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาปฐมศึกษา มหาสารคาม เขต 2 ว่าที่ร้อยตรีสุรสิทธิ์ ถิตย์สมบูรณ์ โดยผอ.ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงแนวทางที่ครูสามารถส่งเสริมผู้เรียนให้เป็นพลเมืองเชิงรุกของโลก หรือ global citizen ว่าที่ร้อยตรีสุรสิทธิ์ยังเห็นถึงผลลัพธ์และคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการที่แอ็คชั่นเอด โรงเรียน ชุมชน และภาคประชาสังคมทำงานร่วมกัน และการสร้างผลกระทบที่มากขึ้นและยั่งยืน
เรายังได้ทำความรู้จักกับนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองบัวคู ที่แรกเริ่มไม่ค่อยกล้าตอบคำถามหรือทำกิจกรรมกับทีมงานซึ่งเป็นยังเป็นคนแปลกหน้า แต่หลังจากที่เล่นเกมละลายพฤติกรรมด้วยกัน พี่ ๆ ทุกคนก็เริ่มแสดงความเป็นตัวเองออกมา ยิ้มแย้มแจ่มใส หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกัน พี่ ๆ นักเรียนทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ไม่ว่าจะพาดูแปลงเกษตร เยี่ยมเล้าหมูป่า ชวนเล่นวอลเลย์บอล หรือชิมอาหารท้องถิ่นที่พี่ ๆ มีส่วนร่วมในการเตรียม สิ่งที่น่าสนใจคือทักษะภายในของแต่ละคน ขณะที่เล่นวอลเลย์บอลด้วยกันและเจอเรื่องท้าทาย รับบอลหรือส่งบอลไม่ได้ ทุกคนจะให้กำลังใจกันตลอด เช่น พูดว่า “ไม่เป็นไร รอบหน้าเอาใหม่” สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ที่โรงเรียน ผู้เรียนมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และรู้จักให้กำลังใจกันในช่วงเวลากดดัน
คุณครูโรงเรียนบ้านหนองบัวคูท่านหนึ่งบอกกับเราว่า หลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรของโรงเรียน เธอเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความคิดเห็นของพวกเขา การเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่คำนึงถึงทักษะภายนอกและปัญญาภายไม่เพียงเอื้อให้ครูเข้าใจเด็กมากขึ้น แต่ยังรับฟังเด็กและเสริมพลังให้เด็กทั้งชายและหญิงมีความเป็นผู้นำตั้งแต่เล็ก แนวทางที่สร้างความสมดุลทางเพศเช่นนี้เป็นก้าวสำคัญของโรงเรียนไทย ที่ได้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบสากลและให้ประสบการณ์รอบด้าน
ในการนำประสบการณ์จากการลงพื้นที่ครั้งนี้มาช่วยแก้ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก สิ่งสำคัญคือการมีพื้นที่ให้องค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนหนุนเสริมโรงเรียนขนาดเล็กได้สร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ในวงกว้าง และได้สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เราสามารถเริ่มต้นได้ในโรงเรียนและเครือข่ายโรงเรียน อย่างการจัดตั้งชมรมที่นักเรียนสามารถมีส่วนช่วยระดมทุนหรือลงมือพัฒนาโรงเรียนในด้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของระดับชั้น สิ่งนี่จะทำให้เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้ถึงการมีส่วนร่วมและความท้าทายที่โรงเรียนของเขาหรือเพื่อนต่างโรงเรียนกำลังเจอ กิจกรรมนี้จะสร้างความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันและส่งเสริมให้นักเรียนกล้าสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมและระบบการศึกษาของพวกเขา นอกจากนี้ ดิฉันคิดว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่เพียงพอหรือต้องการพัฒนาการเรียนการสอน สามารถเรียนรู้จากโมเดลของโรงเรียนหนองบัวคู ซึ่งใช้นวัตกรรมรับมือกับข้อจำกัดและพัฒนาโรงเรียนตามบริบทความต้องการของตัวเอง ดิฉันเองยังอยากให้การใช้นวัตกรรมแบบโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นที่รู้จักมากขึ้นในโรงเรียนอื่น ๆ รวมถึงโรงเรียนของดิฉัน แนวทางของจิตศึกษาจะช่วยพัฒนาให้คนรุ่นใหม่เคารพตัวเอง เคารพซึ่งกันและกัน รู้จักรักษาความสัมพันธ์และรับมือกับความขัดแย้ง เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตนเองและสิ่งต่าง ๆ และทำให้พวกเขามีสุขภาวะรอบด้าน ทั้งกายและใจ ในบ้าน ที่โรงเรียน และโลกภายนอกเมื่อโตขึ้น
บทความนี้เขียนโดย ไกอา บรูโน นักเรียนมัธยมปลายโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ด้วยความสนใจในประเด็นการศึกษาและความเท่าเทียมทางเพศ เธอจึงเลือกมาฝึกประสบการณ์ที่มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เป็นเวลา 1 เดือน